การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
ความท้าทาย ความเสี่ยง และผลกระทบ
ท่ามกลางความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งการถดถอยทางเศรษฐกิจ ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น ผู้มีส่วนได้เสียจึงให้ความสนใจในการบริหารตามแนวทางการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ในประเด็นด้านบรรษัทภิบาล กลุ่มไทยออยล์ตระหนักดีว่า กฎหมายและกฎเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจมีความเข้มข้นขึ้น และผู้มีส่วนได้เสียมีความคาดหวังให้องค์กรดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ความมุ่งมั่น และเป้าหมาย
กลุ่มไทยออยล์มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยยึดถือแนวปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ เป็นรากฐานสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยมีการกำหนดนโยบาย และคู่มือที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริตอย่างชัดเจน ประกาศใช้ทั่วทั้งองค์กร และมีการทบทวนให้มีความเป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ
เป้าหมาย
ตัวชี้วัด | หน่วย | เป้าหมายปี 2566 |
เป้าหมายระยะยาวปี 2573 |
กรณีที่พนักงานกลุ่มไทยออยล์ กระทำการใดๆ ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดของกฎหมาย กฎระเบียบที่สำคัญ และการกระทำการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กร (Case of Non-Compliance and Fraud Incidents) | กรณี | 0 | 0 |
แนวทางการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงาน
แนวทางการบริหารจัดการ
กลุ่มไทยออยล์ตระหนักว่า การทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้กำหนด “นโยบายต่อต้านการทุจริต” ตลอดจนคำนิยาม บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และมาตรการดำเนินการ โดยมีการประกาศใช้ทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานรับทราบ และยึดถือเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญ ทั้งนี้ มีการทบทวนนโยบายต่อต้านการทุจริตดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ แล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการนำนโยบาย แนวปฏิบัติ และมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการติดตามผลการปฏิบัติเพื่อนำมาทบทวนปรับปรุงแผนงานให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน การมีระบบควมคุมภายในเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน การสื่อสารให้ความรู้และการฝึกอบรมเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย แนวปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
การกำกับดูแลกิจการที่ดี
คณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วยความเป็นธรรม สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ กลุ่มไทยออยล์ได้นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในระดับประเทศและในระดับสากลมากำหนดโครงสร้างและกลไกการจัดการต่างๆ ที่สะท้อนถึงหลักการสำคัญ “REACT+E” โดยรณรงค์ให้พนักงานทุกระดับปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อปลุกจิตสำนึกและส่งเสริมให้มีการปฏิบัติงานตามจรรยาบรรณธุรกิจอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรดังนี้
หลักการ | คำอธิบาย |
Responsibility | มีความสำนึกรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยขีดความสามารถและประสิทธิภาพที่เพียงพอ |
Equitable Treatment | ปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันด้วยความเป็นธรรม |
Accountability | มีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตนเองและของผู้อื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน สามารถชี้แจงและอธิบายการตัดสินใจนั้นได้ |
Creation of Long-term Value | มีวิสัยทัศน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรในระยะยาว |
Transparency | มีความโปร่งใสในการดำเนินงานที่สามารถตรวจสอบได้ และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง |
Ethics | มีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ |
กลุ่มไทยออยล์ยังให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความตระหนักรู้ทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ผ่านการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัตินโยบายและคู่มือที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี นโยบายต่อต้านการทุจริต และคู่มือหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (คู่มือ CG) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการและเกณฑ์การประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการต่างๆ เช่น เกณฑ์การประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) แบบประเมินเพื่อเข้ารับการรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 (CG Code 2017) เป็นต้น ซึ่ง บริษัทฯ ได้เปิดเผยนโยบายและแนวปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเว็ปไซต์ของบริษัทฯ ทั้งนี้ เมื่อปี 2565 ได้มีการปรับชื่อ "คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ" จากเดิมเป็น “คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีฯ) เพื่อสื่อถึงบทบาทหน้าที่ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีฯ ทำหน้าที่ในการติดตามและส่งเสริมการดำเนินงานของไทยออยล์ ให้เป็นไปตามนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้บรรจุนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและนโยบายการต่อต้านการทุจริตเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการบริหารจัดการบริษัทในกลุ่มไทยออยล์ (TOP Group Way of Conduct) เพื่อเป็นแนวทางในการมอบหมายให้บุคลากรของบริษัทฯ เป็นผู้แทนบริษัทฯ ในการเข้าไปดูแลและบริหารจัดการบริษัทในกลุ่มไทยออยล์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวและเติบโตอย่างยั่งยืน
จรรยาบรรณธุรกิจและการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มไทยออยล์กำหนดจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ โดยได้จัดทำเป็นคู่มือหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (CG Manual) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ดี และสื่อสารให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนยึดถือปฏิบัติ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ และผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในองค์กร
บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ โดยได้นำหลักการกำกับดูแลการปฏิบัติงานผ่านรูปแบบการบูรณาการของหน่วยงานภายในของบริษัทฯ ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ และการกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ กฎระเบียบ หรือ Governance – Risk and internal control – Compliance (GRC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยในปี 2566 พบว่าไม่มีการกระทำผิดของกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ หรือการทุจริตคอร์รัปชัน
นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์ยังอยู่ระหว่างการให้ที่ปรึกษาภายนอกมาตรวจประเมิน (Third Party Verification) เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเทียบเคียงกับมาตรฐานระดับสากลและบริษัทชั้นนำต่างๆ ได้แก่ มาตรการและกระบวนการการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแส และระเบียบวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับอำนาจอนุมัติ (Corporate Authority Procedure) ของกลุ่มไทยออยล์ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมีการควบคุมภายในที่เพียงพอเหมาะสม ให้การดำเนินธุรกิจของกลุ่มไทยออยล์บรรลุวิสัยทัศน์ที่องค์กรกำหนดไว้
มาตรการการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแส และการติดตามตรวจสอบและการรับเรื่องร้องเรียน
กลุ่มไทยออยล์ได้กำหนดมาตรการการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแส เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และ/หรือจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายหรือจรรยาบรรณธุรกิจ รวมถึงการกระทำที่อาจส่อถึงการทุจริต ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกละเมิดหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึง ผู้มีส่วนได้เสีย พนักงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบุคคลภายนอกอื่นที่พบเห็นหรือทราบเบาะแส สามารถแจ้งข้อมูลการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแส ผ่านช่องทางต่างๆ ตามรายละเอียดกระบวนการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสในคู่มือหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเว็ปไซต์ของบริษัทฯ
กลุ่มไทยออยล์ยังได้กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเรื่องร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแส หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เหมาะสมและเป็นธรรมจากบริษัทฯ อาทิ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือการกระทำอื่นใดที่ไม่เป็นธรรม บริษัทฯ จะเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนเป็นความลับ และไม่เปิดเผยต่อผู้ไม่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ที่จำเป็นต้องเปิดเผยตามข้อกำหนดของกฎหมาย
นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์มีการติดตามการดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียน เพื่อให้การดำเนินงานและการติดตามข้อร้องเรียนมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยในปี 2566 บริษัทฯ ได้รับข้อร้องเรียนผ่านช่องทางตามมาตรการการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแส รวมทั้งสิ้น 2 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ สามารถแบ่งประเภทข้อร้องเรียนที่ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง ดังนี้
ประเภทของข้อร้องเรียน | จำนวนเรื่องที่ตรวจสอบ | จำนวนเรื่องที่ไม่สอดคล้อง |
การทุจริตและคอร์รัปชัน |
1 | 0 |
การเลือกปฏิบัติ |
0 | 0 |
การรักษาความลับและการใช้ข้อมูลภายใน |
0 | 0 |
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ |
0 | 0 |
การผูกขาดและการแข่งขันทางการค้า |
0 | 0 |
การฟอกเงิน |
0 | 0 |
คุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม |
0 | 0 |
ฝ่าฝืนระเบียบบริษัทฯ |
1 | 0 |
ฝ่าฝืนจรรยาบรรณธุุรกิจอื่นๆ |
0 | 0 |
การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
กลุ่มไทยออยล์มีการกำหนด “จรรยาบรรณว่าด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์” โดยบรรจุอยู่ในคู่มือ CG เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้บุคลากรยึดถือปฏิบัติ และสื่อสารให้ความรู้แก่ผู้บริหารและพนักงานเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ผ่านบทความในวารสารอัคนี (วารสารสื่อสารภายในองค์กร) และ E-newsletter ตลอดทั้งปีด้วยการส่งอีเมลตรงถึงผู้บริหารและพนักงานทุกคน รวมถึงมีการเผยแพร่บนอินทราเน็ตของไทยออยล์ ส่งผลให้ผู้บริหารและพนักงานได้รับความรู้เรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ครบร้อยละ 100 รวมถึงจัดให้มีการรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้ผู้บริหารและพนักงานของกลุ่มไทยออยล์ต้องรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตั้งแต่แรกเข้ามาเป็นพนักงาน รวมถึงรายงานต่อเนื่องเป็นประจำทุกต้นปี และรายงานเมื่อเกิดเหตุ ซึ่งในปี 2566 มีผู้บริหารและพนักงานเข้าร่วมการรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ประจำปี 2566 ครบทั้ง 1,928 คน (จำนวนพนักงาน ณ ช่วงเวลาที่เปิดให้รายงานฯ) คิดเป็นร้อยละ 100 ของพนักงานทั้งองค์กร
การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
คณะกรรมการบริษัทฯ และผู้บริหารตระหนักถึงความสำคัญในการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน 100 ปี ด้วยวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส บริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริต บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และมาตรการดำเนินการ โดยได้ประกาศใช้ทั่วทั้งองค์กรและระบุเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่า
“บุคลากรของกลุ่มไทยออยล์จะไม่กระทำ หรือยอมรับการทุจริตทุกรูปแบบ ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยครอบคลุมถึงธุรกิจของกลุ่มไทยออยล์ ในทุกประเทศและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กลุ่มไทยออยล์ได้กำหนดแนวปฏิบัติ มาตรการดำเนินการ และบทบาทหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ตลอดจนจัดให้มีการสอบทาน และทบทวนการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ"
การประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชัน
กลุ่มไทยออยล์ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงองค์กร รวมทั้งกำกับดูแลให้มีระบบและกระบวนการบริหารความเสี่ยงทั้งในระดับองค์กร ระดับสายงาน และระดับปฏิบัติงาน ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและให้เกิดความมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ
นอกจากนั้น กลุ่มไทยออยล์ได้ประเมินความเสี่ยงด้านการกำกับดูแลกิจการและการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยบริษัทฯ ได้ทบทวนแผนงานความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอ โดยได้กำหนดความเสี่ยงและมาตรการป้องกันใน 5 กิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบและการทุจริต (Corruption Risk Profile) ได้แก่ การจดทะเบียนสัญญาเช่ากับหน่วยงานภาครัฐ การขอใบอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ การสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานราชการ การชำระภาษีที่ไม่ถูกต้อง และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ทั้งนี้ ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์มีการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับของภาครัฐและหน่วยงานกำกับฯ ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องครบถ้วน และไม่มีกรณีการร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการประพฤติมิชอบ หรือการกระทำที่ส่อถึงการทุจริตและคอร์รัปชัน
การร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านการการกำกับดูแลกิจการและการต่อต้านคอร์รัปชัน
กลุ่มไทยออยล์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) ตั้งแต่ปี 2555 โดยได้นำหลักการที่สำคัญทั้ง 10 ประการในการส่งเสริมธรรมาภิบาลด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์ยังได้เข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption: CAC) ตั้งแต่ปี 2555 โดยได้รับการรับรองเป็นสมาชิก (CAC Certified Company) ครั้งแรกในปี 2557 ซึ่งมีอายุคราวละ 3 ปี และได้รับการต่ออายุการรับรอง (CAC Re-Certified Company) อย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 2563 และ 2566 ตามลำดับ ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้มีความโปร่งใส ยกมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการ ลดความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่ระบุในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2561 แสดงถึงเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในการต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง
โครงการที่โดดเด่น
ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ให้ความสำคัญต่อการปลูกฝังและเน้นย้ำแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมและการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้บุคลากรตระหนักถึงความสำคัญ และยึดถือเป็นหลักการสำคัญในการปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสและตรวจสอบได้ ได้แก่
การปลูกฝังเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ และการต่อต้านการทุจริต ตั้งแต่เริ่มทำงานวันแรก โดยผนวกเนื้อหาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรปฐมนิเทศสำหรับพนักงานใหม่พร้อมกับส่งมอบคู่มือ CG ผ่านระบบ CG Reporting ส่งผลให้พนักงานใหม่ได้รับการสื่อสารข้อมูลและฝึกอบรม ครบร้อยละ 100 | |
การจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ และส่งเสริมพฤติกรรมการปฏิบัติงานที่โปร่งใส เป็นธรรม ตลอดปี 2566 เช่น กิจกรรม Compliance & CG Talk หัวข้อ การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย บรรยายโดย นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กิจกรรม Law Focus หัวข้อ การป้องกันการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย บรรยายโดยผู้บริหารจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กิจกรรม GRC in Action บริเวณหน้างาน CEO Townhall ประจำไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 4 กิจกรรม Good to Great CG Contest เชิญชวนแบ่งปันวิธีการทำงานที่ส่งเสริมแนวทาง CG ในแบบของคุณ เป็นต้น | |
การปรับปรุงสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) ได้แก่ CG Orientation E-learning สำหรับพนักงานใหม่ ประกอบด้วยหัวข้อหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ และการต่อต้านการทุจริต และ Anti-Fraud E-learning สำหรับพนักงานปัจจุบัน เพื่อให้ความรู้ที่มาของการเกิดทุจริต และแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตภายในองค์กร | |
การสื่อสารนโยบายงดรับของขวัญ (No Gift Policy) ให้พนักงานทุกคนรับทราบผ่านช่องทางสื่อสารภายในองค์กร ในหลากหลายรูปแบบ เช่น คลิปวีดิโอ E-newsletter เป็นต้นตลอดจนการจัดส่ง “หนังสือขอความร่วมมืองดมอบของขวัญหรือของกำนัลแก่ผู้บริหารและพนักงานของกลุ่มไทยออยล์” แก่คู่ค้า ลูกค้า สถาบันการเงิน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันเหตุปัจจัยที่อาจนำไปสู่การกระทำที่ขัดต่อนโยบายการต่อต้านทุจริต | |
การสื่อสารให้ข้อมูลหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ และการต่อต้านการทุจริต ผ่านช่องทางการสื่อสารภายในบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เช่น คอลัมน์ GRC Corner ในวารสารอัคนี (วารสารภายในองค์กร) GRC Newsletter รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง | |
การจัดทำการสำรวจวัฒนธรรมองค์กรด้านการบูรณาการ GRC (GRC Culture Survey) ประจำปี 2566 เพื่อประเมินวัฒนธรรมองค์กรด้านการบูรณาการการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการปฏิบัติตามกฎหมายกฎระเบียบและข้อบังคับ (GRC) ในภาพรวม โดยผลการสำรวจที่ได้รับจะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการกำกับดูแลกิจการอย่างเหมาะสมต่อไป | |
การร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ร่วมจัดงาน PTT Group CG Day 2023 ภายใต้แนวคิด “Good to Great : CG Empowering for the Future ผสานพลังร่วม รวมพลังสร้าง สู่อนาคตยั่งยืน” ผ่านการจัดงานในรูปแบบ Hybrid เพื่อส่งเสริม เผยแพร่การดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกลุ่ม ปตท. และเน้นย้ำให้บุคลากรทุกระดับในกลุ่ม ปตท. นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาใช้ในการปฏิบัติงาน โดยมีคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ตัวแทนบริษัทคู่ค้า และแขกรับเชิญจากหน่วยงานกำกับฯ เช่น ตัวแทนจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าร่วมงานกว่า 400 คน รวมทั้งมีการเชิญคู่ค้า ลูกค้า และพนักงานเข้าร่วมชมการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ของงานอีกด้วย |
ผลการดำเนินงานปี 2566