การจัดการนวัตกรรมและความรับผิดชอบต่อลูกค้า

การจัดการนวัตกรรมและความรับผิดชอบต่อลูกค้า

ความท้าทาย ความเสี่ยง และผลกระทบ 

ปี 2566 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายและความเสี่ยงมากมาย เช่น สงครามและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ความผันผวนของตลาดการเงินโลก สถานการณ์เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ฯลฯ ล้วนเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตทางภาคธุรกิจ ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้องค์กรต้องปรับตัวและเสริมสร้างกลยุทธ์ของตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สำหรับแนวทางการดำเนินการของกลุ่มไทยออยล์ได้ปรับตัว ปรับพอร์ตการลงทุนให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและมีความหลากหลายของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ที่ถือเป็น Corporate Value ของบริษัทฯ จะยิ่งทวีความสำคัญในการนำพาองค์กรให้อยู่รอดท่ามกลางความเสี่ยงภายนอกที่ควบคุมไม่ได้และทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว 

นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ๆ ผ่านการทำงานประสานกันของหลายหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ความมุ่งมั่น และเป้าหมาย

สืบเนื่องจากปี 2565 คณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติในหลักการแผนกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรมขององค์กร ส่งผลให้ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์กำหนดเป้าหมายด้านนวัตกรรม การวิจัยพัฒนา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขององค์กรที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรด้านนวัตกรรมโดยเฉพาะ และมีการจัดกิจกรรมระดมสมองในฝ่ายต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และกล้าเสนอความคิดใหม่ๆ ในการทำงานตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นตั้งใจติดตามผลงานความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในภาพรวมและสร้างประโยชน์ให้บริษัทฯ อย่างเป็นรูปธรรม

เป้าหมาย

กลุ่มไทยออยล์มุ่งมั่นในการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 (จาก 5 ระดับ) ภายในปี 2569 ซึ่งหมายถึงการเริ่มมีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มีความโดดเด่นทางด้านนวัตกรรมและสร้างผลกระทบทางธุรกิจกับบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ จึงถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในองค์กรร่วมกันขับเคลื่อนองค์กร เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยกลุ่มไทยออยล์กำหนดแผนงานในแต่ละปีเพื่อบรรลุเป้าหมายในปี 2569 ไว้ดังนี้

ในปี 2565 บริษัทฯ มีระดับนวัตกรรมขององค์กรอยู่ที่ระดับ 3 (จาก 5 ระดับ) และมีแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาระดับนวัตกรรมขององค์กรที่ชัดเจน

  • ปี 2566 เน้นเรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในด้านนวัตกรรม การระดมสมอง เพื่อหาไอเดียสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์กับองค์กร
  • ปี 2567 เน้นเรื่องการนำไอเดียสร้างสรรค์มาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง เพื่อสร้างประโยชน์ทางธุรกิจขององค์กร และจะมีการวัดระดับนวัตกรรมขององค์กรอีกครั้ง เพื่อประเมินความก้าวหน้าในการพัฒนาสู่ความเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม
  • ปี 2568 นำผลการวัดระดับนวัตกรรมขององค์กรที่ได้มาพัฒนา ปรับปรุง และส่งเสริมให้พนักงานมีความพร้อม เพื่อยกระดับสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมยิ่งขึ้น
ตัวชี้วัด หน่วย เป้าหมายปี 2569
ระดับนวัตกรรม                          ระดับ             4 (จาก 5 ระดับ)      

นอกจากนั้น กลุ่มไทยออยล์ยังมุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจในสินค้าและบริการให้กับลูกค้า ตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อและการบริหารจัดการเพื่อให้ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์ครบถ้วน ถูกต้อง และตามเวลาที่กำหนด ตลอดจนการรับเรื่องข้อร้องเรียนและการติดตามแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า เพื่อให้บริษัทฯ สามารถปรับแผนการตลาดได้อย่างเหมาะสมและเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตร (Building on Our Strong Strategic Partnership)

ตัวชี้วัด   หน่วย        เป้าหมายปี 2566     
รักษาความผูกพันของลูกค้ากลุ่มไทยออยล์                 ร้อยละ          92

แนวทางการบริหารจัดการและผลการดำเนินงาน

  • การบริหารจัดการนวัตกรรม 
  • แนวทางการบริหารจัดการ 

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์กำหนดตัวชี้วัดเป้าหมายขององค์กร (Corporate KPI) ด้านวัฒนธรรมนวัตกรรมเป็นครั้งแรก โดยระดับที่ 1 คือ ร้อยละ 75 ของพนักงานตระหนักถึงวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม ระดับที่ 2 และ 3 คือ มีไอเดียใหม่ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จำนวน 50 และ 100 ไอเดีย ตามลำดับ ส่วนระดับที่ 4 และ 5 คือ มีผลประโยชน์ที่เป็นไปได้จากการลงมือทำไอเดียให้เกิดขึ้นจริงเป็นเงิน 50 และ 100 ล้านบาท ต่อปี ตามลำดับ 

เป้าหมายด้านนวัตกรรมขององค์กรถูกถ่ายทอดไปเป็นเป้าหมายของฝ่ายต่างๆ อย่างทั่วถึงทั้ง 35 ฝ่ายในบริษัทฯ และมีการจัดกิจกรรมระดมสมองในแต่ละฝ่าย เพื่อหาไอเดียใหม่ๆ ร่วมกัน หลังจากนั้น แต่ละฝ่ายเลือกไอเดียที่เหมาะสม เพื่อลงมือปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับองค์กรต่อไป 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมขององค์กร (i-LEAD) งานมอบรางวัลด้านนวัตกรรมแก่บุคลากรที่สร้างสรรค์นวัตกรรมโดดเด่น รวมถึงกิจกรรมให้ความรู้และข้อมูลด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยแก่พนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่พนักงานทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

  1.  
  2. วัฒนธรรมนวัตกรรม 
  3. แนวทางการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมภายในองค์กร 

กลุ่มไทยออยล์สนับสนุนพนักงานให้ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเรื่อยมา และมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรม ดังต่อไปนี้

โครงการ i-LEAD 

ด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจของกลุ่มไทยออยล์ตั้งแต่ปี 2565 ที่มุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นฐานสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้เติบโตและก้าวหน้าอย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับ "นวัตกรรม" โดยมุ่งเน้นและผลักดันให้บุคลากรพัฒนาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ สร้างแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มในอนาคต

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมภายใน ผ่านพฤติกรรม "i-LEAD" ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองมาจากตัวแทนของพนักงานทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารระดับสูง (Top Management) ตลอดจนผู้จัดการแผนกและพนักงาน เพื่อออกแบบรูปแบบของพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการมีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมในการปฏิบัติงานประจำวัน (Daily Work) ผ่านการสื่อสารและการสร้างการรับรู้ (Awareness) เพื่อให้พนักงานเข้าใจ จดจำ และนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน ดังนี้

การจัดกิจกรรมร่วมกับผู้บริหารระดับสูง

  • Building Innovation Culture Awareness through Top Management Workshop (Management Outing Workshop)
  • การจัดกิจกรรม Workshop สำหรับผู้บริหาร เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การสร้าง Innovation Culture Awareness ให้กับพนักงานในสายงาน/ ฝ่ายของตนเอง ผ่านพฤติกรรมหลัก “Lead to Innovation Culture” รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากรภายนอกถึงแนวคิดการสร้างนวัตกรรม การสื่อสาร และการฝึกปฏิบัติการใช้พฤติกรรม i-LEAD as a Role Model
  • CEO Townhall และ Management Meeting
  • การจัดกิจกรรมการสื่อสารโดย CEO ถึงพนักงานทั่วทั้งองค์กร เพื่อเน้นย้ำทิศทาง กลยุทธ์ รวมถึงแผนและผลการดำเนินงาน เพื่อให้พนักงานเกิดความเข้าใจและตระหนักถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงในการนำการเปลี่ยนแปลงลงมาสู่องค์กรและพนักงานทุกคน รวมถึงการรายงานความคืบหน้าของโครงการ Innovation Culture Awareness ในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นผู้บริหารระดับสูงสนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมให้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่อง

การจัดกิจกรรมร่วมกับตัวแทนพนักงานประจำแต่ละหน่วยงาน (Change Agent)

  • Generating New Actionable Ideas through Change Agent SME Idea Facilitation & LO Inspirer Workshop
  • การจัดกิจกรรม Workshop การพัฒนา Change Agent โดยคัดเลือกตัวแทนหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือก โดยกลุ่มของ Change Agent จะได้รับการพัฒนา ให้ความรู้ ทักษะ และเครื่องมือ เพื่อใช้ในการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมและคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ภายในหน่วยงานตนเอง

การจัดกิจกรรมเสริมสร้างการรับรู้ถึงวัฒนธรรมนวัตกรรม 360 องศาให้แก่พนักงาน ทั้งรูปแบบออนไลน์และแบบออฟไลน์ (Building 360 Innovation Culture Awareness to Staff: Online & Offline)

การจัดกิจกรรม Campaign และการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลายของบริษัทฯ เช่น อีเมล ไลน์ออฟฟิเชียล บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ และกิจกรรมเดินสายโรดโชว์ เป็นต้น ตลอดจนการจัดงาน Corporate Innovation and Learning Day เพื่อส่งเสริมและมอบรางวัลให้กับพนักงานที่ส่งผลงานด้านนวัตกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ

Innovation Culture Mini-series: i-LEAD จี๊ดหัวใจ

E-Learning: LO x INNO Learning Challenge

Corporate Innovation and Learning Day

i-LEAD Roadshow

โครงการส่งเสริมการสร้างความรู้ด้านนวัตกรรมแก่พนักงาน 

กลุ่มไทยออยล์ส่งเสริมพนักงานให้เป็นนวัตกรที่มีคุณภาพ ให้มีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของนวัตกรรม องค์ความรู้เพื่อการต่อยอดพัฒนา และแรงบันดาลใจเกี่ยวกับนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมดังต่อไปนี้

TOP Innovation E-newsletter

การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอีเมลรายสัปดาห์ส่งให้แก่พนักงานทุกคนในกลุ่มไทยออยล์ โดยมีเนื้อหาที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบ และกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เพื่อบ่มเพาะคุณสมบัติต่างๆ ที่นวัตกรพึงมีและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมในยุคปัจจุบัน รวมถึงการให้ข้อมูลเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนและผลตอบรับที่ดีมาก โดยในปี 2566 มีการเผยแพร่บทความ TOP Innovation E-newsletter ทั้งหมด 32 ฉบับ มียอดผู้อ่านบทความรวมกว่า 22,978 ครั้ง ซึ่งเพิ่มมากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 390 และภาพรวมคะแนนความพึงพอใจจากผู้อ่านอยู่ในระดับดีมาก (97 จาก 100 คะแนนเต็ม)

TOP BCG Updates

การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอีเมลรายเดือนเพื่อเพิ่มความรู้ทางด้าน BCG ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ประกอบไปด้วยนโยบายการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ 3 ระบบของรัฐบาลไทย อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น รถไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจน และนวัตกรรมในการลดโลกร้อนต่างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของพนักงานอย่างท่วมท้น โดยในปี 2566 ภาพรวมความพึงพอใจอยู่ในระดับที่ดีมาก (97 จาก 100 คะแนนเต็ม) และในแต่ละครั้งมีพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 785 คน ต่อครั้ง ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง

Innovation Talk

การเชิญวิทยากรภายนอกที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมมาให้ความรู้กับพนักงาน เช่น คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา (CEO ของ Bitkub) คุณรวิศ หาญอุตสาหะ( CEO ของ Srichand เป็นต้น โดยในปี 2566 มีการจัดกิจกรรมทั้งหมด 4 ครั้ง โดยจำนวนพนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้มีเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 35 และความพึงพอใจโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 91 เป็น 93 จาก 100 คะแนนเต็ม

โครงการ Thaioil Innovation Awards ประจำปี 2566

กลุ่มไทยออยล์ได้รวบรวมผลงานด้านนวัตกรรมจากพนักงานที่เข้าร่วมในโครงการ Thaioil Innovation Awards ในปีที่ผ่านมา โดยแบ่งผลงานเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Idea for Innovation) โครงการต้นแบบ (Prototype) และโครงการนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งมีจำนวนโครงการส่งเข้าประกวดทั้งหมด 295 โครงการ เพิ่มขึ้นจากครั้งที่ผ่านมาประมาณ 3 เท่า ในปี 2566 มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตัดสินผลรางวัล โดยมีโครงการที่ได้รับรางวัล Thaioil Innovation Awards จำนวน 49 โครงการ และมีการจัดงานวัน Thaioil Innovation and Learning Day 2023 ในวันที่ 11 กันยายน 2566 เพื่อมอบรางวัล Thaioil Innovation Awards ให้กับโครงการที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมและเป็นขวัญกำลังใจให้กับนวัตกรทุกคน

  

แนวทางการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมภายนอกองค์กร 

การร่วมมือของหน่วยงานวิจัยและพัฒนา บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กับหน่วยงานภายนอกถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อการสานประโยชน์จากการเข้าถึงเทคโนโลยีระดับสูงที่ได้รับการพัฒนาถึงระดับที่สามารถพัฒนาต่อยอดในทางอุตสาหกรรมได้ เป็นการลดระยะเวลาและเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน ทำให้เพิ่มโอกาสในการสร้างความสำเร็จของโครงการที่จะนำไปสู่การใช้งานจริง หรือสร้างเป็นธุรกิจใหม่ได้ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาและยกระดับความรู้ความสามารถของนักวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยอีกด้วย

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ยังคงให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับภาคการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ กลุ่มไทยออยล์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ลงนามในความร่วมมือที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ การร่วมลงนามในความร่วมมือต่อเนื่องฉบับที่ 6 กับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และการร่วมลงนามในความร่วมมือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงกับคณะเภสัชศาสตร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนธุรกิจโดยงานวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากการร่วมมือกับหน่วยงานภาคการศึกษาและภาครัฐแล้ว กลุ่มไทยออยล์ยังได้ขยายความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้โครงการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางมะตอยน้ำ หรือ Emulsified Asphalts (EA) ที่เกิดจากจุดแข็งของทั้งสองบริษัท โดยบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ผลิตสาร Emulsifier รายใหญ่ของประเทศไทย และกลุ่มไทยออยล์ ในฐานะผู้ผลิตยางมะตอยรายใหญ่ของประเทศไทย จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางมะตอยน้ำที่มีคุณภาพสูงและได้รับการรับรองคุณสมบัติทางเคมีและทางกลจากกรมทางหลวงฯ ว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนและมีคุณภาพที่ดี

โครงการวิจัยสำคัญที่แล้วเสร็จในปี 2566 ได้แก่ โครงการแรก คือ โครงการเปลี่ยนเอทิลีนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นเอทิลีนคาร์บอเนตสำหรับใช้เป็นสารละลายในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ผลจากการวิจัยทำให้กลุ่มไทยออยล์บรรลุเป้าหมายในการพัฒนากระบวนการผลิตเอทิลีนคาร์บอเนตด้วยกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น​ ปลอดภัยมากขึ้น​กว่ากระบวนการผลิตที่มีอยู่ในเทคโนโลยีปัจจุบัน ด้วยผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยนี้ กลุ่มไทยออยล์ยังได้เห็นโอกาสในการจดทะเบียนสิทธิบัตรด้านการผลิตอีกด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างสิทธิบัตรเพื่อจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โครงการนี้เป็นโครงการที่ร่วมมือกับสถาบันวิทยสิริเมธี (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology: VISTEC) และโครงการที่สอง คือ โครงการปรับปรุงหน่วยทดสอบสารเร่งปฏิกิริยาสำหรับน้ำมันดีเซล จากที่สามารถทดสอบน้ำมันดีเซลในระดับเกรด EURO 4 เป็นสามารถทดสอบในระดับเกรด EURO 5 ได้ การปรับปรุงหน่วยทดสอบนี้เป็นการออกแบบการปรับปรุงและดำเนินการโดยนักวิจัยกลุ่มไทยออยล์ โครงการนี้เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (The Petroleum and Petrochemical College: PPC) เป็นต้น

นวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์ 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ปัจจุบัน หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาร่วมกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก ได้แก่ การระดมความคิดกับฝ่ายขายผลิตภัณฑ์ เพื่อหาช่องทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การระดมความคิดกับฝ่ายผลิต เพื่อปรับกระบวนการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตามที่ตลาดต้องการ การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อค้นหาแนวโน้มของเทคโนโลยีและธุรกิจเพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนเพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง เป็นต้น ตัวอย่างนวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไทยออยล์ ได้แก่

ผลิตภัณฑ์น้ำมันแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Transfer Oil)

เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงจากผลิตภัณฑ์ปัจจุบันของบริษัท ลาบิกซ์ จำกัด ให้มีคุณสมบัติของการเป็นน้ำมันแลกเปลี่ยนความร้อน โดยทำการวิจัยคุณสมบัติที่จำเป็นต้องมี รวมถึงวิธีปรับปรุงคุณสมบัติดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานห้องปฏิบัติการ ผลการทดสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์พบว่ามีค่าคุณสมบัติด้านความเสถียรที่ความร้อนสูงถึง 300 องศาเซลเซียส และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าน้ำมันแลกเปลี่ยนความร้อนอื่นที่ใช้กัน ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันแลกเปลี่ยนความร้อนนี้ให้กับลูกค้าแล้ว โดยคิดเป็นผลประโยชน์ที่ได้ 0.6 ล้านบาท

ผลิตภัณฑ์วัสดุเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material)

เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงจากผลิตภัณฑ์ปัจจุบันของบริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน) ให้มีคุณสมบัติของการเป็นวัสดุเปลี่ยนสถานะ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเปลี่ยนจากสถานะหนึ่งไปเป็นอีกสถานะหนึ่งได้ในช่วงความต่างอุณหภูมิเพียงเล็กน้อย โครงการนี้เป็นการวิจัยถึงวิธีการปรับปรุงคุณสมบัติของพาราฟินแวกซ์ (Slack Wax) เพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นวัสดุเปลี่ยนสถานะ โดยในปี 2566 ได้ทำการทดสอบคุณสมบัติทั้งทางเคมี ความร้อน และกายภาพของพาราฟินแวกซ์เปรียบเทียบกับวัสดุเปลี่ยนสถานะที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาพาราฟินแวกซ์ของไทยลู้บเบสให้เป็นวัสดุเปลี่ยนสถานะในแอปพลิเคชันเป้าหมายต่างๆ ได้แก่ การควบคุม หรือลดอุณหภูมิของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ หรือแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น 

นวัตกรรมเชิงกระบวนการ

นวัตกรรมเชิงกระบวนการสามารถแบ่งออกได้เป็นการพัฒนาด้านกระบวนการผลิต กระบวนการทำงาน หรือกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์พัฒนานวัตกรรมเชิงกระบวนการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับกระบวนการทำงานในปัจจุบัน โดยกระบวนการนี้ได้รับการตรวจรับรองจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) ว่ามีความสอดคล้องกับวิธีการทำงานในปัจจุบัน ที่เน้นกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบข้ามสายงาน (Cross Functioning) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Product) โดยประกอบด้วยทีมงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน เช่น หน่วยงานวิจัยและพัฒนา หน่วยงานการพาณิชย์ หน่วยงานผลิต หน่วยงานห้องทดสอบ หน่วยงานศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้ เป็นต้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนวัตกรรมเชิงกระบวนการ ได้แก่

โครงการปรับกระบวนการผลิตน้ำมันยาง (Rubber Process Oil)

เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงจากผลิตภัณฑ์ปัจจุบันของบริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน) โดยใช้นวัตกรรมเชิงกระบวนการ ที่มีการปรับกระบวนการผลิตน้ำมันยาง (Rubber Process Oil: RPO) เพื่อลดปริมาณสารก่อมะเร็ง (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons: PAH) ที่อยู่ในน้ำมันยางให้อยู่ในปริมาณที่ลูกค้ากำหนด โดยมีขั้นตอนที่สำคัญประกอบด้วย (1) คัดเลือกวัตถุดิบที่จะผลิตน้ำมันยางที่เหมาะสม (2) ปรับสภาวะในกระบวนการผลิตเพื่อควบคุมปริมาณสารก่อมะเร็ง และ (3) กระบวนการผสมผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันยางชนิด Light Residual Aromatic Extract (LRAE) ที่มีคุณสมบัติตามที่ลูกค้ากำหนด ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันยางนี้ให้กับลูกค้าแล้ว โดยคิดเป็นผลประโยชน์ที่ได้ 1.17 ล้านบาท

โมเดลการเข้ากันได้ของน้ำมันดิบชนิดต่างๆ (Crude Compatibility Prediction Model)

เป็นนวัตกรรมเชิงกระบวนการที่พัฒนากระบวนการทดสอบการตกตะกอนของส่วนผสมน้ำมันดิบที่แตกต่างกัน (Crude Recipes) ซึ่งสามารถคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการตกตะกอนจากการผสมน้ำมันดิบได้แม่นยำถึงประมาณร้อยละ 90 โดยประโยชน์ที่ได้จากการคาดการณ์นี้ ทำให้สามารถคัดเลือกน้ำมันดิบเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการกลั่นในโรงกลั่นได้อย่างเหมาะสมและลดโอกาสในการตกตะกอนของน้ำมันดิบที่อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนในกระบวนการกลั่น เป็นการประหยัดพลังงานที่ใช้ อีกทั้งโมเดลนี้จะเพิ่มโอกาสในการใช้น้ำมันดิบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นและลดการพึ่งพาคำแนะนำด้านเทคนิคจากหน่วยงานภายนอก

ในปี 2566 หน่วยงานวิจัยและพัฒนาได้โอนถ่ายกระบวนการทำงานที่ได้จากโครงการ ฯ ให้กับหน่วยงานห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อทดสอบตัวอย่างน้ำมันดิบเพิ่มเติมตามรายการน้ำมันดิบกลุ่มใหม่ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการทดสอบในระดับปฏิบัติการเพิ่มเติม

โครงการ RHCU Pilot Plant (Residue Hydrocracking)

RHCU Pilot Plant เป็นหน่วยจำลองการผลิตของหน่วยกลั่น RHCU ในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งได้รับการออกแบบกระบวนการผลิตโดยหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของกลุ่มไทยออยล์ร่วมกับบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบและคัดเลือกสูตรผสมน้ำมันดิบที่เหมาะสมต่อกระบวนการกลั่น รวมถึงตัวแปรต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการของ RHCU โดยผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปใช้ในการวางแผนการผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด การออกแบบกระบวนการทำงานของ RHCU Pilot Plant ต้องมีความสอดคล้องกับกระบวนการกลั่นและปฏิกิริยาเคมีในหน่วย RHCU กล่าวคือ มีการเดินเครื่องการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง มีการควบคุมการผลิตและทดสอบผลการทดลองโดยทีมนักวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลและผลการทดสอบที่ถูกต้องแม่นยำ โดยประโยชน์หลักที่ได้จากโครงการนี้ คือ สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการคัดเลือกสูตรผสมน้ำมันดิบที่เหมาะสมและการคัดเลือกตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีต้นทุนต่ำลง หรือมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 450 ล้านบาท ต่อปี นอกจากนี้ มีประโยชน์ที่เกิดจากการลดความเสี่ยงจากการตกตะกอนของผลิตภัณฑ์ในกระบวนการกลั่น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อครั้งของการเกิดปัญหา โดยการก่อสร้างและการทดสอบ RHCU Pilot Plant คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาสแรกของปี 2567

ผลการดำเนินงานปี 2566

  • การบริหารจัดการลูกค้าและคุณภาพของผลิตภัณฑ์
  • แนวทางการบริหารจัดการ

กลุ่มไทยออยล์ให้ความสำคัญดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ภายใต้แนวทาง “ใส่ใจ พร้อมให้ ไม่ทิ้งกัน” ในทุกด้าน ทั้งด้านการเข้ารับผลิตภัณฑ์ การบริการ และการดำเนินการในโครงการต่างๆ ให้กับลูกค้า เพื่อที่จะเติบโตไปพร้อมกัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และบริการตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมาตรฐานสากล เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบทางลบต่อลูกค้าและสังคม ภายใต้หลักเกณฑ์การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, and Governance: ESG) มากไปกว่านั้น บริษัทฯ รับฟังเสียงลูกค้าและดำเนินการนำไปพัฒนาปรับปรุงอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ยังคงดำเนินการตามแผนงาน Partner for Life เพื่อสนับสนุนการบริการลูกค้าใน 3 ด้าน ดังนี้

  • 1. Partner for Growth มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของลูกค้า (Customer Pain Point Handling) นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์/ บริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองตรงตามความต้องการของลูกค้าอย่างทันท่วงที ในด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ การบริการ และการมีส่วนร่วมทางธุรกิจกับลูกค้า (Customer Expectations) พร้อมทั้งมีระบบ Voice of Customer (VOC) ที่รับฟังความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะจากลูกค้า รวมถึงการขยายผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ในอนาคต
  • 2. Partner for Knowledge การให้ความรู้เชิงวิชาการและสนับสนุนองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ (Knowledge Sharing) ทั้งในด้านเทคนิคและการดำเนินงาน (Technical and Operation) และด้านการค้า (Commercial) รวมถึงการอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การตลาด ทั้งผลิตภัณฑ์น้ำมัน ปิโตรเคมี น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีแค็ตตาล็อกสินค้าออนไลน์ (E-Product Catalogue) เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไทยออยล์ได้หลากหลายมากขึ้น
  • 3. Partner for Service การดำเนินงานด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง (Customer Relations Management: CRM) โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
  • 1. ด้านปฏิบัติการ (Operation) ดำเนินการยกระดับประสิทธิภาพในการให้บริการและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดทำมาตรฐานด้านผลิตภัณฑ์และการให้บริการในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด้านงานขาย ด้านคุณภาพ ด้านปฏิบัติการ ด้านแผนการจัดส่ง ด้านบัญชี ด้านสนับสนุนการขาย ด้านดิจิทัล และด้านบริหารลูกค้าสัมพันธ์ ตั้งแต่รับคำสั่งซื้อ การบริหารจัดการให้ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์ครบถ้วน ถูกต้องตามเวลาที่กำหนด ตลอดจนรับเรื่องร้องเรียนและติดตามแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด (Service Level Agreement: SLA) โดยทุกหน่วยงานปฏิบัติตามข้อตกลงมาตรฐานการให้บริการของแต่ละหน่วยงานได้ร้อยละ 100
  • 2. ด้านวิเคราะห์ (Analytic) ดำเนินการภายในระบบ VOC และการสำรวจผลความพึงพอใจและความผูกพันกับลูกค้า ผ่านการรับฟังความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะจากลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
  • 3. ด้านความร่วมมือร่วมกัน (Collaboration) ดำเนินการแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Heat Transfer Oil: HTO) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและประเภทของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนวิธีการนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจของลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย (Potential Customer) โดยมีการซื้อขายแล้ว อีกทั้งบริษัทฯ ได้เปิดให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังคลังน้ำมันขอนแก่น เป็นคลังน้ำมันแห่งใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีท่อขนส่งน้ำมันเชื่อมต่อสถานีคลังน้ำมันสระบุรีถึงสถานีคลังน้ำมันขอนแก่น ซึ่งการขนส่งด้วยระบบท่อขนส่งน้ำมันจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการขนส่ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมและดูแลสังคม

4. ด้านการจัดเก็บฐานข้อมูล (Customer Data Platform) ดำเนินการภายใต้ระบบ Platform ที่เป็นมาตรฐานสากล สำหรับจัดเก็บฐานข้อมูลพื้นฐานของลูกค้า เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานด้านเสริมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า​

 

โครงการที่โดดเด่น

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้จัดทำโครงการ ใส่ใจ พร้อมให้ ไม่ทิ้งกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ได้แก่

การจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและจิตอาสา ผ่านโครงการ “คุณริเริ่ม เราเติมเต็ม” ด้วยรูปแบบการทำกิจกรรมเพื่อสังคม TEAM SPIRIT ร่วมกับลูกค้า (CRM and CSR Integration Activity) 
การจัดกิจกรรมให้กับพนักงานขับรถ (Happy Hours) ประจำปี 2566 เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยในการเข้ารับผลิตภัณฑ์ ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ปฏิบัติงานอยู่ที่สถานีจ่ายน้ำมัน ผู้ประสานงานขนส่ง เจ้าหน้าที่ห้องตั๋ว และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
การจัดกิจกรรมมอบองค์ความรู้ให้กับลูกค้าทั้งในรูปแบบ Online และ On-Site ในหัวข้อต่างๆ เช่น Fundamental of Refinery Process และ Business Overview & Refinery Overview เพื่อให้ลูกค้ามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของภาพรวมธุรกิจของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันมากยิ่งขึ้น

ผลการดำเนินงานปี 2566

จากการดำเนินงานด้านต่างๆ ครอบคลุมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และการให้บริการ ส่งผลให้การประเมินควาผูกพันของลูกค้าต่อกลุ่มไทยออยล์ดีกว่าเป้าหายที่ตั้งไว้

Update : กุมภาพันธ์ 2567