การประเมิน
ประเด็นสำคัญ
การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย
ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสียเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างคุณค่าของธุรกิจในระยะยาว กลุ่มไทยออยล์ได้จัดตั้งหน่วยงานภายในเพื่อสื่อสารแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รับทราบถึงมุมมองและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ และนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กลุ่มไทยออยล์ได้จำแนกผู้มีส่วนได้เสียออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ถือหุ้น/ เจ้าหนี้/ สถาบันการเงิน ลูกค้า คู่ค้า/ ผู้รับเหมา พนักงาน ชุมชน/ สังคม และหน่วยงานราชการและองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งวิเคราะห์และประเมินผู้มีส่วนได้เสียจากผลกระทบและอิทธิพลของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทฯ ตั้งแต่กระบวนการรับน้ำมันดิบเข้ามาจนถึงกระบวนการสิ้นสุดการใช้งาน ดังแผนภาพด้านล่าง

นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์ได้จัดให้มีแนวทางในการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยหน่วยงานภายในที่รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละกลุ่ม ได้ดำเนินการออกแบบช่องทางและความถี่ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เหมาะสม ทั้งนี้ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ช่องทางและความถี่ในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบออนไลน์มากขึ้น
กลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินการทบทวนและวิเคราะห์ประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้เสียและต่อธุรกิจเป็นประจำทุกปี เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบขององค์กรต่อภายนอก (inside-out) และผลกระทบของภายนอกต่อองค์กร (outside-in) ตามกระบวนการจัดทำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนตามหลักการทวิสารัตถภาพ (Double Materiality Principle) ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนสากลของ GRI Standards 2021 (Global Reporting Initiative Standards 2021) รวมถึงได้นำหลักการ AA1000 AP (AA1000 Accountability Principles 2018) และแนวความคิดด้านการสร้างคุณค่าจากหลักการจัดการประเด็นสำคัญ (Materiality Matters) ของ The Value Reporting Foundation มาปรับใช้ในกระบวนการประเมินประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์ได้รับการตรวจรับรองความน่าเชื่อถือของกระบวนการประเมินประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนจากผู้ทวนสอบภายนอกเป็นประจำทุกปี
ในปี 2567 กลุ่มไทยออยล์ประเมินประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กรตั้งแต่ต้นปีและนำผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณากลยุทธ์ความยั่งยืน ตามกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ STS (Strategic Thinking Session) เพื่อสนับสนุนการวางแผน การกำหนดเป้าหมาย รวมถึงจัดสรรต้นทุนทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ทุนทางการเงิน ทุนการผลิต ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทรัพยากรมนุษย์ ทุนทรัพย์สินทางปัญญาและองค์ความรู้ และทุนทางสังคมและความสัมพันธ์
การระบุประเด็นที่สำคัญ (Identification)
กลุ่มไทยออยล์พิจารณาประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืนประจำปี 2567 ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน ได้แก่ การวิเคราะห์บริบทขององค์กรและทิศทางกลยุทธ์ธุรกิจระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว (Business Strategic Direction) และวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ประเด็นความสนใจของผู้มีส่วนได้เสียโดยการสำรวจความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 6 กลุ่ม ประเด็นความสนใจจากกระแสและแนวโน้มด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) และสมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนานาชาติ (International Petroleum Industry Environmental Conservation Association: IPIECA) เป็นต้น รวมถึงประเด็นความสนใจจากมาตรฐานและสถาบันการประเมินด้านความยั่งยืน (ESG Raters and Standards) เช่น ดัชนีชี้วัดความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) มาตรฐานการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (GRI 11 Oil & Gas) และคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Accounting Standards Board: SASB) เป็นต้น โดยนำประเด็นทั้งหมดที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ มาทบทวนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มไทยออยล์เพิ่มเติมจากปีก่อนหน้า
การจัดลำดับประเด็นที่สำคัญ (Prioritization)
กลุ่มไทยออยล์จัดลำดับความสำคัญของประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนประจำปี 2567 ด้วยการทบทวนผลการประเมินประเด็นสำคัญของปีก่อนหน้าผ่านปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่อาจเข้ามากระทบธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้บริหารของหน่วยงานภายในที่รับผิดชอบในการพัฒนาด้านความยั่งยืน เพื่อทบทวนผลกระทบต่อการสร้างคุณค่าของบริษัททั้งเชิงบวกและเชิงลบ ควบคู่ไปกับการประเมินผลกระทบและความสนใจของผู้มีส่วนได้เสียต่อประเด็นเหล่านั้น โดยจัดอันดับ (Ranking) ของประเด็นความสำคัญด้านความยั่งยืนใน 3 ระดับ ผ่านเกณฑ์พิจารณาใน 2 มิติ คือ
- ผลกระทบและความสำคัญของประเด็นต่อความสามารถในการสร้างคุณค่าของกลุ่มไทยออยล์ ซึ่งพิจารณาจากความเป็นไปได้ของผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบจากประเด็นด้านความยั่งยืน ผลกระทบต่อรายได้สุทธิขององค์กร ผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร และผลกระทบต่อทรัพย์สินขององค์กร
- ผลกระทบและความสำคัญของประเด็นต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งพิจารณาจากระดับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
การทวนสอบประเด็นที่สำคัญ (Validation)
กลุ่มไทยออยล์ทวนสอบความครบถ้วนของประเด็นที่มีนัยสำคัญโดยหน่วยงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน จากนั้นจึงนำประเด็นด้านความยั่งยืนที่ผ่านการทวนสอบแล้วไปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Steering Committee) โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติและยืนยันประเด็นด้านความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญภายใต้ขอบเขตผลกระทบทั้งภายในและภายนอกองค์กร ควบคู่กับการได้รับการเห็นชอบโดยคณะกรรมการบริษัทชุดย่อย ได้แก่ คณะกรรมการกํากับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Corporate Governance and Sustainability Committee)
นอกจากนี้ สำหรับการตรวจสอบกระบวนการประเมินประเด็นสำคัญและการมีส่วนร่วมกับ ผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กลุ่มไทยออยล์ได้เชิญหน่วยงานอิสระจากภายนอกเข้ามาทวนสอบเพื่อรับรองการได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความถูกต้องและครบถ้วน
การบูรณาการเข้ากับกระบวนการการจัดการความเสี่ยงและกลยุทธ์องค์กร (Strategic Integration)
หลังจากผลลัพธ์ของการประเมินประเด็นด้านความยั่งยืนที่ได้รับการอนุมัติและลงนามแล้ว หน่วยงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนได้นำประเด็นด้านความยั่งยืนเข้าสู่กระบวนการการจัดการความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management: ERM) ของบริษัทฯ เพื่อจัดเตรียมแผนบรรเทาผลกระทบตามความจำเป็น รวมถึงนำไปสนับสนุนการวางแผนกลยุทธ์องค์กรตามกระบวนการวางแผนธุรกิจ STS ประจำปี เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญในการบริหารจัดการองค์กรให้มีความยั่งยืน ผ่านการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และกลยุทธ์ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวตามความเหมาะสมต่อไป
ผลการประเมิน
ประเด็นด้านความยั่งยืนที่สำคัญปี 2567
การประเมินประเด็นสำคัญในปี 2567 พบว่า มีบริบทการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียและต่อธุรกิจในการสร้างคุณค่าในระยะยาว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความเข้มข้นเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) และสังคมคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลที่เกิดขึ้นในปี 2566 ส่งผลให้ประเด็นเรื่องระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น กลุ่มไทยออยล์จึงมุ่งมั่นพัฒนาระบบการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการรักษาความปลอดภัยต่อชุมชนและสังคม ควบคู่ไปกับการปกป้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากความมุ่งมั่นในการดำเนินการด้านความยั่งยืนของกลุ่มไทยออยล์ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้เสียพิจารณาว่าประเด็นเรื่องการกำกับดูแลที่ดี การจัดการคุณภาพอากาศ และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นประเด็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ ที่จำเป็นจะต้องบริหารจัดการให้สอดคล้องตามกฎหมาย มาตรฐาน หรือแนวปฏิบัติทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล ดังรายละเอียดในแผนภาพและตาราง ดังนี้
การประเมินผลกระทบ
กลุ่มไทยออยล์ได้วิเคราะห์ประเด็นสาระสำคัญเพื่อระบุและประเมินผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายนอก โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาจากการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์และการบริการ และห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ กลุ่มไทยออยล์ได้วัดผลกระทบและประเมินมูลค่าโดยใช้หลักการ “Natural Capital Protocol” และ “Social & Human Capital Protocol” เพื่อระบุและวัดผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และนำไปสู่การกำหนดมูลค่าผลกระทบเชิงปริมาณภายใต้การดำเนินการของกลุ่มไทยออยล์ จากการวิเคราะห์ สามารถระบุผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกลุ่มไทยออยล์ 2 ประการ ดังปรากฏในตารางต่อไปนี้
ผลกระทบที่สำคัญประการที่ 1 | ผลกระทบที่สำคัญประการที่ 2 | |
---|---|---|
ประเด็นสาระสำคัญสำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กร | การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 – กลุ่มไทยออยล์มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ (โดยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากผลิตภัณฑ์จำพวกแก๊สโซฮอล์และพลังงานไบโอดีเซล) เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพภูมิอากาศ | การปล่อยมลพิษทางอากาศ (NOx SOx และ VOCs) – กลุ่มไทยออยล์มุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อสังคม โดยกำหนดให้มีการบริหารจัดการการปล่อยมลพิษทางอากาศต่างๆ ประกอบด้วย ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) อย่างไรก็ตาม มลพิษทางอากาศยังคงส่งผลเสียต่อสภาพภูมิอากาศ |
หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กร
| ผลกระทบเชิงบวก กลุ่มไทยออยล์จึงมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจการต่างๆ และมุ่งสู่ความเป็นเลิศผ่านการพัฒนาการวิจัยและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการจัดซื้อสินค้าในหมวดวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องใช้สำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่กลุ่มไทยออยล์จะสร้างผลกระทบเชิงบวกผ่าน: • การลดผลกระทบต่อบรรยากาศและสภาพภูมิอากาศ:การบริโภคผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำของผู้บริโภคสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมในระดับประเทศ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ • การพัฒนาสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน: ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำช่วยลดมลพิษทางอากาศและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยออยล์มีส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพและน่าอยู่มากขึ้นสำหรับชุมชนโดยรอบโรงกลั่น • การเพิ่มมูลค่าของการบริการจากระบบนิเวศ: ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำช่วยบรรเทาผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต ผลกระทบเชิงลบ แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ยังมีก๊าซเรือนกระจกที่คงเหลือปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิต ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และลูกค้า เช่น: • ฤดูแล้งที่ยาวนานขึ้น: อุณหภูมิที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของปริมาณน้ำฝนสามารถนำไปสู่ฤดูแล้งที่ยาวนานและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำและผลิตผลทางการเกษตร • อุณหภูมิที่สูงขึ้น: อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นสามารถส่งผลเสียต่างๆ ได้มากมาย รวมถึงภาวะเครียดจากความร้อน ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น และการสูญเสียที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า • สภาวะภูมิอากาศที่ผันผวน: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถนำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงมากขึ้น เช่น น้ำท่วม พายุ และไฟป่า ก่อให้เกิดความเสียหายและการหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญ | ผลกระทบเชิงบวก กลุ่มไทยออยล์ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแนวทางการประเมินผลกระทบ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการคุณภาพอากาศ โดยได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคุณภาพสูงที่สามารถแปลงกำมะถันจากก๊าซเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์ของเหลวได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ แทนที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่กลุ่มไทยออยล์จะสร้างผลกระทบเชิงบวกผ่าน: • การป้องกันและลดมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด: การลดการปล่อยอากาศเสียช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศและปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน และชุมชนโดยรอบโรงกลั่นของบริษัท กลุ่มไทยออยล์ควบคุมมลพิษทางอากาศ (การปล่อย NOx, SOx และ VOCs) ให้ได้มาตรฐานที่สูงกว่าข้อกำหนดทางกฎหมายและรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) • การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากของเสียและมลพิษจากการผลิต: การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของบริษัทฯ ในการค้นหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากของเสียและมลพิษจากการผลิต และนำมาเพิ่มมูลค่า (Upcycling) เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ผลกระทบเชิงลบ มลพิษทางอากาศ (NOx SOx และ VOCs) จากการดำเนินงานและกระบวนการผลิตของกลุ่มไทยออยล์ ส่งผลกระทต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก สังคม และลูกค้า โดยมลพิษเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิด เช่น • คุณภาพอากาศที่ลดลง: มลพิษทางอากาศสามารถก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร • การเปลี่ยนแปลงเชิงลบสุทธิในชั้นบรรยากาศ: การปล่อยมลพิษเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลเสียที่เกี่ยวข้องต่อสิ่งแวดล้อม |
ตัวชี้วัดผลลัพธ์
| • หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ขอบเขตที่ 3 จากผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ: 919,559 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เทียบเท่า • หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ขอบเขตที่ 3 จากการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: 1,852.40 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เทียบเท่า | • การปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx ) : 4,243 ตัน • การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx) : 6,568 ตัน • การปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) : 1,023 ตัน |
ตัวชี้วัดผลกระทบ | ผลประโยชน์ต่อสังคม / สิ่งแวดล้อม = 6,546 ล้านบาท | ผลประโยชน์ต่อสังคม / สิ่งแวดล้อม = 1,865 ล้านบาท |
ตัวชี้วัดผลกระทบ | ตัวชี้วัดผลกระทบ: • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) = 7,105 บาท | ตัวชี้วัดผลกระทบ: • ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx ) : 154,669 บาท • ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx) : 168,677 บาท • สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) : 98,638 บาท |
แหล่งอ้างอิงตัวชี้วัดผลกระทบ | US Government, IWG on Social Cost of Greenhouse Gases, 2021. Pg 16 (Page 16): Technical Support Document: Social Cost of Carbon, Methane, (whitehouse.gov) | TruCost (2013) Natural Capital at Risk. (page 41, average costs): http://naturalcapitalcoalition.org/wp-content/uploads/2016/07/Trucost-Nat-Cap-at-Risk-Final-Report-web.pdf |