แนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์
แนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์
ตามนโยบายการบริหารความยั่งยืนของกลุ่มไทยออยล์และนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน กลุ่มไทยออยล์จะดำเนินความร่วมมือผ่าน SCOC และโปรแกรม ESG สำหรับคู่ค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสู่ความสำเร็จในการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับกลุ่มไทยออยล์ ดังนั้น SCOC นี้จึงครอบคลุมใน 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้
1.1 การบริหารการจัดการสิ่งแวดล้อม คู่ค้าต้องมีระบบจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และดำเนินการเพิ่มความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมถึง คู่ค้าต้องจัดให้มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและกำหนดความเป็นไปได้ของกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการส่งเสริมหลักการเฝ้าระวัง ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานตามหลักการที่ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย 1.2 การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คู่ค้าต้องจัดให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการใช้พลังงานและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น คู่ค้าควรสนับสนุนการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ (การใช้ซ้ำ, การนำกลับมาใช้ใหม่, หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน, แนวทางวัฎจักรชีวิต)และลดผลกระทบของกิจกรรมต่างๆ และผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม 1.3 ความหลากหลายทางชีวภาพ การตัดไม้ทำลายป่า หรือการอนุรักษ์ที่ดิน คู่ค้าต้องให้ความร่วมมือและมีความมุ่งมั่นในการปกป้อง อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการทางระบบนิเวศ การไม่ตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่า รวมถึงการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเมืองและชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.4 การป้องกันมลพิษและการจัดการของเสีย คู่ค้าต้องบ่งชี้ แยกแยะและควบคุมของเสีย และของเสียอันตราย พร้อมทั้งเฝ้าระวัง รวมถึงบำบัดคุณภาพน้ำทิ้ง และการปล่อยของเสียและผลิตผลจาการเผาไหม้ ที่เกิดจากกระบวนการผลิตและกระบวนการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก เพื่อเป็นการป้องกันการปล่อยมลพิษสู่อากาศและน้ำ การจัดการขยะ การใช้และการกำจัดสารเคมีที่เป็นพิษและเป็นอันตราย และยาฆ่าแมลง รวมถึงการจัดการมลพิษในรูปแบบอื่นๆ เช่น เสียง กลิ่น การสั่นสะเทือน การปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รังสี และไวรัส หรือมลพิษจากแบคทีเรียที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบที่ใช้บังคับ โดยมีการตรวจสอบและมีมาตรการควบคุมที่สอดคล้องกับ Thai Oil Zero Landfill Aspiration 1.5 การลดก๊าซเรือนกระจกและการลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ คู่ค้าต้องร่วมมือกับคู่ค้าของท่าน เพื่อลดผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งจากกระบวนการทางธุรกิจของคู่ค้าหรือสายโซ่อุปทานของคู่ค้า และพิจารณาเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการเข้าร่วมในโครงการที่เหมาะสมกับกลุ่มไทยออยล์หรือองค์กรอื่น ๆ คู่ค้าควรพิจารณาคิดคำนวณ carbon footprint (ไม่ใช่แค่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ |
2.1 สิทธิมนุษยชน ● การปฏิบัติอย่างเท่าเทียม คู่ค้าต้องเคารพในความแตกต่าง ความหลากหลายของพนักงานและผู้ปฎิบัติงานในสถานที่ทำงาน และปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยปราศจากการเอื้อผลประโยชน์หรือลิดรอนสิทธิของพนักงานและผู้ปฎิบัติงานอย่างไม่เป็นธรรม อันมีสาเหตุมาจากเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิว ต้นตระกูล ศาสนา สถานทางสังคม สถานภาพเกี่ยวกับการสมรส เพศ อายุ รสนิยมทางเพศ ความพิการ แนวคิดทางการเมือง คู่ค้าต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าในรูปแบบใดๆก็ตาม ● การต่อต้านการล่วงละเมิด คู่ค้าต้องต่อต้านไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดและการคุกคามในทุกรูปแบบภายในองค์กร โดยครอบคลุมทั้งการแสดงพฤติกรรมซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่ว่าจะมีนัยยะทางเพศหรือไม่ก็ตาม หรือ ก่อให้เกิดบรรยากาศในการทำงานที่ไม่เป็นมิตร ซึ่งการคุกคามที่มีนัยยะทางเพศอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศหรือเพศสภาพของบุคคล และการคุกคามที่ไม่มีนัยยะทางเพศอาจเกี่ยวข้องกับกับบุคลิกภาพหรือสถานภาพของบุคคล อาทิ เผ่าพันธุ์ การนับถือศาสนา อายุ เชื้อชาติ เชาวน์ปัญญา ความทุพพลภาพ สรีระทางกายภาพ เป็นต้น ● แรงงานเด็ก คู่ค้าต้องไม่จ้างแรงงานที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ให้แรงงานเด็กหรือบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเวลากลางคืน หรือในสถานที่ ที่มีลักษณะเป็นอันตราย ● แรงงานบังคับ คู่ค้าต้องไม่จ้างแรงงานที่เกิดจากการบังคับหรือไม่เต็มใจในรูปแบบใดๆก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้แรงงาน, การใช้แรงงานที่ต้องทํางานเพื่อการชําระหนี้ หรือ การขัดหนี้, การบีบบังคับทำงานที่บุคคลทำงานด้วยความไม่สมัครใจ โดยอาศัยวิธีการหรืออ้างเหตุ เพื่อการลงโทษ การข่มขู่ ● เสรีภาพในการรวมเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ คู่ค้าต้องยอมรับในสิทธิ และเสรีภาพของลูกจ้างของตนที่พึงมีในการเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมสมาคม สหภาพ สหพันธ์ รวมถึงการเจรจาต่อรองต่างๆ ● เงื่อนไขการทำงาน คู่ค้าต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายท้องถิ่นที่มีการบังคับใช้และกฎหมายที่เกี่ยวกับสภาพการทำงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงาน ค่าตอบแทน และการเลิกจ้าง ● ค่าจ้างและสวัสดิการ คู่ค้าต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทน และผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน และจะไม่หักค่าจ้างพนักงานไม่ว่ากรณีใดๆ เว้นแต่กฎหมายยกเว้นไว้ ● การสร้างและพัฒนาทักษะ คู่ค้าต้องส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ความสามารถให้กับพนักงานและผู้ปฎิบัติงานในสถานที่ทำงาน โดยวางแผนการพัฒนาอาชีพ ทบทวนความรู้ความสามารถเดิมที่มีอยู่ จัดอบรม หรือให้โอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้พนักงานและผู้ปฎิบัติงานมีความพร้อมในการทำงานและเกิดการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
2.2 อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ● ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน คู่ค้าต้องจัดให้มีนโยบายด้านสุขภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ รวมถึงมีการจัดหาเครื่องป้องกันภัยส่วนบุคคลให้กับลูกจ้างอย่างเพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถนำเสนอประเด็นปัญหาด้านความปลอดภัยในการทำงานโดยไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบวินัย ● การป้องกัน เตรียมตัว และตอบสนองสภาวะฉุกเฉิน คู่ค้าต้องมีการคาดคะเน บ่งชี้และประเมินสถานการณ์ และเหตุการณ์ฉุกเฉินรวมถึงมีการวางแผน และมีระเบียบวิธีปฏิบัติที่รองรับการตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉิน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากสภาวะฉุกเฉินดังกล่าว 2.3 การพัฒนาและมีส่วนร่วมกับชุมชน คู่ค้าต้องสร้างและดำเนินการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างและกระชับความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินงานของคู่ค้า พร้อมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ความสามารถให้แก่ชุมชนโดยรอบ เพื่อให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน นอกจากนี้ คู่ค้าต้องส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนโดยรอบมีการสร้างทักษะเพื่อสามารถสร้างงานที่ก่อให้เกิดรายได้ และมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัยของสมาชิกในชุมชน |
3.1 การปฎิบัติตามข้อบังคับ คู่ค้าต้องดำเนินธุรกิจ โดยปฏิบัติตามกฎหมาย ระดับสากล ระดับชาติและท้องถิ่น รวมถึงกฎระเบียบที่บังคับใช้กับการดำเนินธุรกิจ และใบอนุญาต ที่จำเป็นต่อธุรกิจนั้นๆ 3.2 การต่อต้านการทุจริต และการติดสินบน กลุ่มไทยออยล์มีนโยบาย “Zero Tolerance” ที่แสดงเจตนารมณ์ในการปฎิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัดในเรื่องของการทุจริต กรรโชก ฉ้อโกงหรือการติดสินบน หากคู่ค้าใดมีส่วนเกี่ยวข้องในการจ่ายหรือรับสินบนจะถูกยกเลิกสัญญา โดยกลุ่มไทยออยล์จะไม่รับผิดชอบความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นต่อคู่ค้าอันเนื่องมาจากการยกเลิกสัญญาดังกล่าวและคู่ค้าอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย 3.3. การต่อต้านการแข่งขันทางการค้า คู่ค้าต้องไม่ก่อให้เกิด หรือเป็นส่วนหนึ่งของการฝ่าฝืน กฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า เช่น ความร่วมมือที่ผิดกฎหมายในการกำหนดราคา การแบ่งตลาดที่ผิดกฎหมาย หรือพฤติกรรมอื่นใดที่ฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า รวมถึงควรสนับสนุนและส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น สนับสนุนการต่อต้านการผูกขาด การต่อต้านการทุ่มตลาด และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากสภาพสังคมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความยากจนหรือสภาวะตลาดและการเงิน เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม 3.4 รางวัล คู่ค้าต้องรับทราบว่าพนักงานกลุ่มไทยออยล์ไม่มีการให้หรือรับของขวัญ ของที่ระลึกอันจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินงาน หรือก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม เว้นเสียแต่ว่าเป็นของขวัญที่ให้ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางธุรกิจ ที่คู่ค้าหรือบุคคลที่สาม อาจจะมอบให้หรือได้รับจากกลุ่มไทยออยล์โดยเปิดเผย 3.5 ผลประโยชน์ทับซ้อน คู่ค้าต้องรายงานให้กลุ่มไทยออยล์ทราบหากพบว่ามีการดำเนินการใดๆ ที่สังเกตได้ว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างกลุ่มไทยออยล์กับคู่ค้า และ แจ้งให้กลุ่มไทยออยล์ทราบพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่าพนักงานในกลุ่มไทยออยล์มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างกลุ่มไทยออยล์กับคู่ค้า 3.6 การรักษาความลับ คู่ค้าต้องมีกระบวนการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลที่เป็นความลับของกลุ่มไทยออยล์ 3.7 การเปิดเผยข้อมูล คู่ค้าต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องและเปิดเผยข้อมูลทั้งในด้านธุรกิจ สิ่งแวดล้อม กิจกรรมสังคม โครงสร้าง รวมถึงผลประกอบการโดยมีความสอดคล้องตามกฏหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง 3.8 การเคารพในสิทธิทางปัญญา คู่ค้าต้องมีนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น โดยสร้างความตระหนักให้กับพนักงานขององค์กร เคารพซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นและต้องขออนุญาตจากบุคคลผู้เป็นเจ้าของในทรัพย์สินทางปัญญาให้ถูกต้องตามกฏหมายเสียก่อนที่จะมีการใช้งาน อีกทั้ง ต้องไม่มีส่วนรวมในกิจกรรมใดๆก็ตามอันมีลักษณะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น 3.9 ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้า ● การคุ้มครองข้อมูลลูกค้าและความเป็นส่วนตัว คู่ค้าต้องให้การคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของลูกค้าเพื่อปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูกค้าตามกฎหมาย นโยบาย ข้อบังคับ ข้อกำหนด และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับลูกค้าและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
● นโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้า คู่ค้าต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าสินค้าหรือบริการจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้า และจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้สินค้าหรือบริการที่ละเมิดต่อทรัพย์สินทางปัญญาในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ การใช้ การจัดเก็บ การบำรุงรักษา การซ่อมแซม รวมถึงการส่งคืน
● การสร้างความรู้ ความเข้าใจ คู่ค้าต้องมีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและความปลอดภัยให้กับลูกค้า รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เช่น การติดฉลากผลิตภัณฑ์บนตัวสินค้า การมีคู่มือแนะนำการใช้สินค้า และการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ
● การบริการลูกค้า การสนับสนุนและการร้องเรียนและการระงับข้อพิพาท คู่ค้าต้องเสนอบริการแก่ลูกค้า สนับสนุน และมีกลไกในการร้องเรียน การรับประกัน การสนับสนุนทางเทคนิคเกี่ยวกับการใช้งาน ตลอดจนการจัดเตรียมข้อกำหนดสำหรับการส่งคืน การซ่อมแซม และการบำรุงรักษา รวมไปถึงการใช้มาตรฐานระดับประเทศ หรือ มาตรฐานสากล มาช่วยในการกำหนดแนวทางแก้ปัญหา ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าและ สร้างความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยให้กับลูกค้าอีกด้วย เนื่องจากมาตรฐานสากลส่วนใหญ่นั้นสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือ หากมีก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก
|