อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
สุขภาพและความปลอดภัย
ความท้าทาย ความเสี่ยง และผลกระทบ
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ได้คลี่คลายลงในปี 2566 ส่งผลให้การปฏิบัติงานและการใช้ชีวิตของพนักงานและผู้รับเหมาได้เปลี่ยนไปสู่วิถีชีวิตปัจจุบัน (Now normal) ที่ยังคงมีการเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้การขยายกำลังการผลิตตามแผนงานธุรกิจ อาทิ โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ที่กำลังเปลี่ยนสถานะจากการก่อสร้างไปสู่การเตรียมทดลองเดินเครื่อง (Commissioning and Start up) หน่วยกลั่น ล้วนเป็นความท้าทายที่กลุ่มไทยออยล์จำเป็นต้องทบทวนและเพิ่มเติมมาตรการควบคุมความปลอดภัยเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและให้มั่นใจว่ากลุ่มไทยออยล์จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีอุบัติการณ์ร้ายแรงจนเป็นเหตุให้เกิดการหยุดชะงักในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มไทยออยล์
ความมุ่งมั่น และเป้าหมาย
กลุ่มไทยออยล์มุ่งเน้นการวางรากฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Safety) และความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety) ผ่านนโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และการจัดการพลังงาน เพื่อป้องกัน ควบคุมและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในสภาวะการดำเนินงานปกติ สภาวะผิดปกติ และสภาวะฉุกเฉิน สำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและการขยายธุรกิจในอนาคต ตลอดรวมถึงการสนับสนุนและปกป้องพนักงานและคู่ค้าจากความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจอันเนื่องมาจากประเด็นทางกฎหมาย ข้อบังคับและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ (No Harm No Leak Goal Zero)
ตัวชี้วัด | เป้าหมายปี 2566 | เป้าหมายปี 2573 |
วุฒิภาวะด้านความปลอดภัย (Maturity Level) |
ยกระดับให้อยู่ในระดับที่ 4 |
ระดับที่ 4.5 |
สถิติความปลอดภัย อัตราการบาดเจ็บจากการทำงาน (TRIR) ของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด (พนักงานและผู้รับเหมา) | อยู่ในกลุ่มผู้นำร้อยละ 10 อันดับแรกของกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ (IOGP) | 0.10 รายต่อล้านชั่วโมงการทำงาน |
อุบัติการณ์ด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety Event: PSE) Tier 1 | 0 เหตุการณ์ | 0 เหตุการณ์ |
แนวทางการบริหารจัดการและผลการดำเนินงาน
1. การบริหารจัดการด้านความปลอดภัย และสุขภาพของผู้ปฎิบัติงาน
แนวทางการบริหารจัดการ
กลุ่มไทยออยล์บริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย โดยกำหนดนโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และการจัดการพลังงานของกลุ่มไทยออยล์ (QSHE Policy) เป็นกรอบในการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนและเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มไทยออยล์ให้บรรลุความเป็นเลิศด้าน QSHE อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีการจัดทำระบบการจัดการแบบบูรณาการ ดังนี้
- 1. ระบบบริหารงานด้านคุณภาพตามมาตรฐาน (มอก. 9001: 2559)
- 2. ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน (มอก. 14001: 2559)
- 3. ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน (มอก. 18001: 2554)
- 4. ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน (ระบบมาตรฐาน ISO 45001: 2561)
- 5. ระบบการจัดการแบบบูรณาการ (Integrated Management Systems: IMS)
- 6. ระบบการจัดการว่าด้วยความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบ (ระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025: 2561)
- 7. มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม CSR (ระบบมาตรฐาน ISO 26000) ภายใต้โครงการ CSR – DIW
- 8. ระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัย ด้านสารสนเทศ (ระบบมาตรฐาน ISO/IEC 27001: 2556)
- 9. ระบบการจัดการพลังงาน (ระบบมาตรฐาน ISO 50001: 2562)
- 10. ระบบการจัดการ Operational Excellence Management System (OEMS)
- 11. ระบบการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety Management)
ปัจจุบันกลุ่มไทยออยล์ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ (Operational Excellence to Business Excellence: O2Bx) เพื่อมุ่งขับเคลื่อนเป็นโรงกลั่นชั้นนำระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับแผนการขยายตามโครงการ CFP โดยความปลอดภัยถือเป็นหนึ่งในเสาหลักที่จะต้องได้รับการพัฒนาและยกระดับ ซึ่งยังยึดหลัก All SAFE White Green เพื่อพัฒนาและยกระดับจิตสำนึกและภาวะผู้นำด้านความปลอดภัยในการทำงานให้สูงขึ้น โดยมีความหมาย ดังต่อไปนี้
All | พนักงานและผู้รับเหมาทุกคน |
S | การปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐาน |
A | การตระหนักถึงอันตรายและการประเมินความเสี่ยง |
F | การปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามมาตรฐานความปลอดภัย และมีการควบคุมการปฏิบัติที่เหมาะสม |
E | ความมั่นใจว่า มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง |
White | การปลอดสารเสพติด |
Green | การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม |
No Harm | การเป็นองค์กรที่ปราศจากผู้ได้รับบาดเจ็บ |
No Leak | ปราศจากการรั่วไหลของสารไฮโดรคาร์บอนหรือสารเคมีอันตรายจากภาชนะบรรจุหลัก |
กลุ่มไทยออยล์มีหน่วยงานเฉพาะทำหน้าที่ควบคุมและผลักดันการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วยผู้แทนจากพนักงานระดับปฏิบัติการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของคณะกรรมการทั้งหมด (ไม่รวมประธานกรรมการ) ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อแจ้งข่าวสาร พร้อมติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานและแผนการดำเนินงานในอนาคต เป็นต้น
บทบาทของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- • พิจารณานโยบายและแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน
- • กำหนดเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- • พัฒนาแผนงาน 5 ปี โดยการจัดลำดับความสำคัญและกำหนดแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เพื่อระบุบ่งชี้ถึงความเสี่ยง
- • ติดตาม ประเมิน และรายงานความคืบหน้าของผลการดำเนินงาน เพื่อลดและป้องกันประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ที่อาจนำสู่ผลกระทบต่อเป้าหมาย
- • รายงานและเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานและมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้าง เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ผู้รับเหมา และบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานหรือเข้ามาใช้บริการในสถานประกอบกิจการ
- • ส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ ติดตาม รายงาน และประเมินผล
- • สำรวจการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการทำงาน และตรวจสอบสถิติการประสบอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการนั้นอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
โครงการและกิจกรรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ดำเนินการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่สำคัญ ดังนี้
การขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ (O2Bx)
- • การปรับแผนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ (O2Bx) เพื่อเตรียมพร้อมที่จะขับเคลื่อนโรงกลั่นชั้นนำระดับโลก และปรับเป้าหมายความปลอดภัยระดับองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ใหม่ดังกล่าว คือ No Harm, No Leak, Goal Zero
- • การทบทวนแผนงาน 5 ปี ด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย การจัดการเหตุฉุกเฉินและวิกฤตให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงแผนกลยุทธ์และเป้าหมายระดับองค์กรใหม่
- • การมอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงนำเสนอกรณีศึกษาและประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความปลอดภัยทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ รับทราบเป็นประจำทุกเดือน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงมาตรการด้านความปลอดภัยของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง
- • การเยี่ยมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหารระดับสูง ทั้งในระหว่างการปฏิบัติงานตามปกติ การหยุดซ่อมบำรุงหน่วยผลิต และงานโครงการก่อสร้าง เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและสนับสนุนความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีด้านภาวะผู้นำความปลอดภัย
การประเมินความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
- • การทบทวนการบ่งชี้และประเมินความเสี่ยงและอันตรายที่มีศักยภาพจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกัน และมีการตรวจติดตามประสิทธิผลของมาตรการควบคุมและป้องกันอย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบความปลอดภัย การวิเคราะห์ รวมถึงเสนอแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำโดยพนักงานและผู้รับเหมา ทั้งนี้ ผู้บริหารจะมีการทบทวนและตรวจสอบผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยเป็นประจำทุกเดือน
- • การประเมินความเสี่ยงและอันตรายร้ายแรง และทบทวนมาตรการควบคุมและป้องกันด้านความปลอดภัย โดยกำหนดแผนและมาตรการความมั่นคงและความปลอดภัยเชิงป้องกันในระดับต่างๆ (Defense in Depth) ให้ครอบคลุมความเสี่ยงและอันตรายร้ายแรง โดยเฉพาะการรั่วไหลของสารเคมี โดยมีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินในระดับต่างๆ และต่อยอดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินไปสู่ระดับการบริหารจัดการภาวะวิกฤต (Crisis Management) ร่วมกับหน่วยงานภายนอกและหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มไทยออยล์ยังคงบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยงร้ายแรงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ตลอดเวลา
- • การทบทวนบัญชีอุบัติเหตุที่มีศักยภาพก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง (Major Accident Event) ให้สอดคล้องกับความเสี่ยง และการทบทวนและฝึกซ้อมตามแผนฉุกเฉินและภาวะวิกฤต รวมถึงแผนเผชิญเหตุล่วงหน้าให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล (International Best Practice) ตลอดจนปรับปรุงศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉิน (Emergency Control Center) ให้ทันสมัยและพร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ
- • การทบทวนวิธีปฏิบัติการบริหารจัดการอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ให้ครอบคลุมอุบัติการณ์ทุกประเภท ได้แก่ การบาดเจ็บจากการทำงาน โรคหรือการเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุและอุบัติการณ์อื่นๆ รวมถึงอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในกระบวนการผลิต มีการประเมินระดับความรุนแรงและความเสี่ยง โดยใช้ตารางการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment Matrix) เพื่อกำหนดทีมสอบสวนฯ และวิธีการสอบสวนฯ ที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงและความเสี่ยงของอุบัติการณ์นั้น และต้องระบุสาเหตุที่แท้จริง พร้อมกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ
การเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย
- • การทบทวนระบบใบอนุญาตในการทำงาน (Permit to Work System) โดยเฉพาะใบอนุญาตที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อนหรือประกายไฟ (Hot Work) รวมถึงรายการตรวจสอบ (Checklist) ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล
- • จากการประเมินระดับวัฒนธรรมความปลอดภัย ในปี 2565 ผลการประเมินที่ 4.16 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5.00 คะแนน ซึ่งนำมาด้วยแผนงานพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัย ในปี 2566 ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนงานที่ระบุไว้เพื่อให้พนักงานและผู้รับเหมามีความตระหนักและให้องค์กรก้าวเข้าสู่องค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ
- • การตรวจสอบระบบใบอนุญาต (Permit to Work Inspection) โดยพนักงานเจ้าของพื้นที่ (Area Operation) และทีมตรวจสอบความปลอดภัย (Safety Audit Team) เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติสอดคล้องตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในใบอนุญาตให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง
- • การจัดทำการ์ดมอบอำนาจสิทธิในการสั่งหยุดงาน (Stop Work Authority) ให้กับพนักงานและพนักงานผู้รับเหมาทุกคน เมื่อพบว่าพื้นที่ปฏิบัติงานมีสภาพการณ์หรือสภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยต่อตนเองและเพื่อนร่วมงาน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือทรัพย์สินของกลุ่มไทยออยล์ โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อเป็นการแสดงความมุ่งมั่นและเน้นย้ำถึงการป้องกันและแก้ไขก่อนเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์
- • การประเมินดัชนีชี้วัดสมรรถนะด้านสุขภาพ (Health Performance Indicators) ตามหลักเกณฑ์และแนวทางของ International Association of Oil and Gas Producers (IOGP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล โดยได้รับคะแนนการประเมินในปี 2566 ที่ 3.85 คะแนน จากคะแนนเต็ม 4.00 คะแนน พร้อมจัดทำแผนงานพัฒนาและยกระดับระบบการบริหารจัดการให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของ IOGP ต่อไป
- • การยกระดับการบริหารจัดการความปลอดภัยผู้รับเหมา (Contractor Safety Management) ให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล มีการตรวจประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยประจำปีของบริษัทผู้รับเหมา โดยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก (Third Party) ทั้งในส่วนของระบบบริหารจัดการและการปฏิบัติงานในพื้นที่ สำหรับใช้ในการแบ่งระดับผู้รับเหมา (Contractor Banding) เป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง กรณีที่บริษัทผู้รับเหมา มีผลการประเมินฯ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (สีเหลือง หรือ สีแดง) จะเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมานำเสนอแผนงานและทำการปรับปรุงแก้ไขประเด็นปัญหาให้สอดคล้องตามข้อกำหนดและตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ปรับปรุงเอกสารการประเมินผลด้านเทคนิคของความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมสำหรับการประมูลผู้รับเหมา (Contract SSHE Bidding and Close Out Evaluation)
- • การทบทวนวิธีปฏิบัติงานที่ปลอดภัย สำหรับกิจกรรมหรืองานที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ งานยกของหนักโดยปั้นจั่น งานนั่งร้าน งานที่ต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในเขตพื้นที่โรงกลั่น เป็นต้น และทำการฝึกอบรมและสื่อสารให้กับพนักงานและผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องตามข้อกำหนดอย่างครบถ้วน
- • การยกระดับการแจ้งเตือนสถานการณ์ผิดปกติหรือฉุกเฉินสำหรับผู้อยู่เวรคอยเหตุฉุกเฉินและผู้เกี่ยวข้อง ด้วยระบบ SMS เพื่อให้ผู้อยู่เวรคอยเหตุฉุกเฉินทราบถึงเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว และสามารถเข้ามาสนับสนุนการระงับเหตุได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- • การยกระดับการแจ้งเตือนสถานการณ์ผิดปกติกรณีเกิดฝนฟ้าคะนองในรัศมี 5 กิโลเมตร เพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้พนักงานทราบและดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งเป็นการแจ้งเตือนเพื่อเตรียมความพร้อมของทีมระงับเหตุฉุกเฉิน กรณีเกิดไฟไหม้ที่บริเวณขอบถังน้ำมันชนิดหลังคาลอย (Rim Seal Fire)
- • การทบทวนแผนเผชิญเหตุล่วงหน้า (Pre Incident Plan) ระดับที่ 1 และระดับที่ 2 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมาตรฐานสากล รวมถึงการฝึกซ้อมตามแผนที่กำหนด เพื่อเป็นการซักซ้อมการรับมือเหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุล่วงหน้า ระดับที่ 2 เพิ่มเติม เพื่อรองรับหน่วยผลิตใหม่ของโครงการ CFP
- • การทบทวนคู่มือการบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤติ (Emergency and Crisis Management Manual) และการวางแผนเผชิญเหตุล่วงหน้าให้ครอบคลุมเหตุฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชุน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโครงการ CFP ที่จะทำการ Commissioning และ Start up ในอนาคต
การให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมด้านความปลอดภัย
- • การพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะของพนักงานและผู้รับเหมา ผ่านศูนย์ฝึกอบรมความปลอดภัยที่มีความพร้อมทั้งภาคทฤษฎี (Theory) และภาคปฏิบัติ (Practice) และประเมินความรู้ความสามารถของพนักงานและผู้รับเหมาที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ตามระบบใบอนุญาตในการทำงานต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และการจัดการเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤตตามบทบาทหน้าที่ ผ่านกระบวนการ Competency Assurance System
- • การยกระดับวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน ด้วย Behavior Based Safety (BBS) โดยได้ทำการฝึกอบรมหลักสูตร BBS ให้กับพนักงานกลุ่มเป้าหมาย (Train for the Trainer) เพื่อนำไปถ่ายทอดและเป็นแบบอย่างให้กับพนักงานและพนักงานผู้รับเหมาสำหรับใช้สังเกตพฤติกรรมในการทำงานและสั่งหยุดงานเมื่อพบว่าไม่ปลอดภัย
- • การจัดให้การฝึกอบรมหลักสูตรการขออนุญาตในการทำงาน (Permit to Work System and Clearance Certificate Signatory) สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในระบบใบอนุญาตในการทำงาน
- • การจัดโครงการป้องกันและลดอุบัติเหตุจากการทำงาน (30-60-90 Days with No Harm No Leak) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเน้นย้ำและกระตุ้นให้พนักงานและผู้รับเหมาเกิดความตระหนักด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างเข้มข้น โดยมีเป้าหมาย คือ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ (Medical Treatment Case: MTC)
- • การจัดกิจกรรม Thaioil Group QSHE Day ประจำปี 2566 เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยฯ ของพนักงานและผู้รับเหมา โดยการมอบโล่และเกียรติบัตรให้แก่ผู้ที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นด้าน QSHE ประจำปี 2566 และจัดบูธนิทรรศการ เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยฯ ให้กับพนักงานและผู้รับเหมา
- • การปรับปรุงกฎความปลอดภัยพื้นฐาน 12 ข้อ (12 Life Saving Rules) โดยนำวิถีอันตราย (Line of Fire) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกฎความปลอดภัยพื้นฐาน ตามแนวทางการปฏิบัติของกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซของ IOGP
- • การรณรงค์และเสริมสร้างการตระหนักถึงอันตราย ได้แก่ วิถีอันตราย และการปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยพื้นฐาน 12 ข้อ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรณรงค์ให้มีการเขียนรายงาน Potential Incident Report (PIR) โดยมุ่งเน้นถึงการกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Act) และสภาพการณ์ที่มีศักยภาพจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ (Unsafe Condition) ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุ
- • การจัดทำตารางการอบรมความปลอดภัยในการทำงานของผู้รับเหมา (Contractor Training Matrix) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับเหมาที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่กลุ่มไทยออยล์มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน
- • การจัดฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับพนักงานและผู้รับเหมารายใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายและความเสี่ยงขั้นพื้นฐานของการปฏิบัติงานในพื้นที่กลุ่มไทยออยล์ รวมถึงรู้และเข้าใจมาตรการด้านความปลอดภัยที่กำหนดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในกิจกรรมการทำงาน เช่น หลักสูตรความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน (Basic Safety in Refinery) หลักสูตรดับเพลิงขั้นต้น (Basic Firefighting) หลักสูตรความปลอดภัยในการปฏิบัติงานในที่อับอากาศ (Confined Space) และหลักสูตรการปฐมพยาบาล (First Aid) เป็นต้น
- • การอบรมหลักสูตรด้านความปลอดภัยเฉพาะ สำหรับพนักงานและผู้รับเหมา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและสอดคล้องตามข้อกำหนด เช่น หลักสูตรผู้อนุมัติใบรับรองความปลอดภัย (Authorized Engineer (AE)/ Authorized Gas Safety Inspector (AGSI) Course) หลักสูตรผู้อนุมัติใบอนุญาตทำงาน (Clearance Certificate Signatory) หลักสูตรผู้ตรวจวัดแก๊ส (Authorized Gas Tester) หลักสูตรความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า เป็นต้น
- • กลุ่มไทยออยล์ยังคงให้ความสำคัญกับกลยุทธ์เชิงรุกโดยการยกระดับกิจกรรม Management Walk and Talk เป็น GEMBA Walk โดยผู้บริหารระดับสูง ดำเนินการตรวจสอบด้วยการพูดคุยสอบถามถึงกิจกรรมสำคัญ โดยใช้ชุดคำถามที่มีความเฉพาะ มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจ แนะนำวิธีปฏิบัติที่ปลอดภัยในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งด้านความปลอดภัยส่วนบุคคลและความปลอดภัยในกระบวนการผลิต และดำเนินกิจกรรม QSHE Roll Out อย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นการเข้าถึง รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมจิตสำนึกด้านคุณภาพความมั่นคง ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมของผู้ปฏิบัติงานหรือภายในพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อขยายขอบเขตให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติงานและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานภายใต้กิจกรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ณ ขณะนั้น อีกทั้ง กลุ่มไทยออยล์ยังนำระบบการจัดการต่างๆ ที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป และมีการรายงานผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ข้างต้นให้ผู้บริหารได้รับทราบและร่วมหาแนวทางการแก้ไขเป็นประจำ รวมถึงจะมีกระบวนการทบทวน (Management Review) เป็นประจำทุกปี เพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุงและจัดทำแผนงานประจำปีต่อไป พร้อมทั้งมีการสื่อสารให้พนักงานรับทราบเป็นระยะ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิผลต่อไป
การรับมือต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
- • การดำเนินการตามแผนการเฝ้าระวังติดตามและแผนเผชิญเหตุรองรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 0 ไม่พบผู้ติดเชื้อ เน้นการป้องกันและเฝ้าระวัง ระยะที่ 1 พบผู้ต้องสงสัยหรือผู้ติดเชื้อในกลุ่มไทยออยล์ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เน้นการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจาย และระยะที่ 2 พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในกลุ่มไทยออยล์ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เน้นการกอบกู้สถานการณ์และการฟื้นฟู ต้องเปิดศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉินและความต่อเนื่องทางธุรกิจ
ผลการดำเนินงานปี 2566
ในปี 2566 ขณะที่บริษัทฯ กำลังมีกิจกรรมโครงการก่อสร้างหน่วยกลั่นพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project Constructions Phase) ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นขณะที่ผู้รับเหมาปฏิบัติงานด้วยการให้ความร้อนกับแนวเชื่อมบริเวณแนวท่อหลังจากการเชื่อม (Post Weld Heat Treatment: PWHT) ส่งผลให้ผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานได้รับบาดเจ็บรุนแรง 1 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในพื้นที่เกิดเหตุทันทีโดยทีมช่วยเหลือชีวิต พร้อมนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ได้มีการหยุดงานโครงการฯ และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ประกอบด้วยผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน ทำการสอบสวนเพื่อค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุ และกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ รวมทั้งมีการจัดทำ Lesson Learned Sharing ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
2. การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิต
แนวทางการบริหารจัดการ
ความปลอดภัยในกระบวนการผลิตเป็นหนึ่งในองค์ประกอบซึ่งอยู่ในเสาหลักด้านความปลอดภัย (Safety Pillar) ของแผนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ จึงต้องได้รับการยกระดับและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายหลักที่สำคัญในการดำเนินงาน คือ การดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการรั่วไหลของสารไฮโดรคาร์บอนหรือสารเคมีอันตราย (Loss of Primary Containment: LOPC) หรือปราศจากเหตุการณ์ผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต (Process Safety Event: PSE) จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อมและชื่อเสียงของกลุ่มไทยออยล์ ดังนั้น ระบบการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety Management: PSM) จึงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนและเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มไทยออยล์ให้บรรลุเป้าหมาย No Harm, No Leak, Goal Zero เพื่อความเป็นเลิศด้านผลการดำเนินงานความปลอดภัยในกระบวนการผลิตในระดับโลก
ตั้งแต่ปี 2561 บริษัทฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานความปลอดภัยด้านเทคนิค (Technical Safety) เพื่อพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิตของกลุ่มไทยออยล์ให้เทียบเคียงมาตรฐานสากล (Occupational Safety and Health Administration: OSHA) โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและเป็นองค์กรที่มีความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ของการดำเนินงาน
โครงการและกิจกรรมด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิต
ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินการด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิตให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลและการปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากลที่สำคัญ ดังนี้
- • การทบทวนสถานะการบริหารจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิตในปัจจุบันกับข้อกำหนดของระบบการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากล OSHA และการปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล
- • การทบทวนแผนงาน 5 ปี ด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิต เพื่อพัฒนาและยกระดับระบบการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล
- • การทบทวนและยกระดับอุปกรณ์วิกฤตด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Safety Critical Equipment: SCE) ให้สอดคล้องตามข้อกำหนดของ Mechanical Integrity ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของ PSM และการบริหารจัดการของกลุ่มปตท.
- • การยกระดับกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Management of Change: MOC) ในกระบวนการผลิต ให้สอดคล้องตามวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล เพื่อป้องกันอุบัติการณ์และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการผลิตที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง โดยมีการทบทวนประเด็นต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ความเสี่ยงและกำหนดมาตรการป้องกัน การออกแบบตามหลักวิศวกรรม การทบทวนทางด้านเทคนิคโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก่อนที่จะมีการแก้ไขหรือปรับปรุง และหลังจากการปรับปรุงจะต้องมีการทดสอบก่อนการเดินเครื่องจักรจริง รวมถึงกำหนดตัวชี้วัด (MOC KPI) ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับผู้บริหาร (Steering Committee) และระดับปฏิบัติการ (Operational Committee) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและให้การสนับสนุนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนด
- • การพัฒนาระบบการจัดการกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยการปรับปรุงกระบวนการทบทวนและอนุมัติการเปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งพัฒนาระบบ e-MOC ให้สอดคล้องกับกระบวนการทบทวนและอนุมัติการเปลี่ยนแปลงใหม่
- • การพัฒนาและยกระดับระบบ Technical Authority (TA) ให้สอดคล้องตามการปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล มาปรับใช้ในกระบวนการ MOC อย่างต่อเนื่องโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ผ่านการทบทวนและรับรองโดยผู้มีความรู้ความสามารถทางเทคนิคอย่างเป็นระบบ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ให้สามารถดำเนินการได้ด้วยความปลอดภัยอย่างยั่งยืน และในปี 2566 ได้ทำการฝึกอบรมหลักสูตร Technical Authority และประเมินความรู้ความสามารถของ TA (TA2 และ TA3) ทดแทนและเพิ่มเติมระบบการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง
- • การทบทวนและสื่อสารประเด็นความเสี่ยงและมาตรการควบคุมป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นครบทุกกระบวนการผลิต ถังเก็บผลิตภัณฑ์ เตาเผาของหน่วยกลั่น หน่วยบำบัดน้ำเสีย และทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล (Single Buoy Mooring: SBM) ที่ 1 และ 2 ผ่านกระบวนการบริหารจัดการอันตรายและความเสี่ยง (Hazard Effect Management Process: HEMP) อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการควบคุมป้องกันหรืออุปกรณ์นิรภัยที่ได้ออกแบบและติดตั้งไว้ยังคงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสามารถควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ตลอดเวลา
- • การปรับปรุงกฎความปลอดภัยในกระบวนการผลิตพื้นฐาน 10 ข้อ (10 Process Safety Fundamental) ตามแนวทางการปฏิบัติของกลุ่ม ปตท.
- • การเสริมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิตด้วยกฎความปลอดภัยในกระบวนการผลิตพื้นฐาน 10 ข้อ และ Process Safety Management and Barrier Thinking รวมถึงกิจกรรมการลงตรวจเยี่ยมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โดยผู้บริหารระดับสูง หรือ GEMBA Walk โดยผู้บริหารระดับสูง ดำเนินการตรวจสอบด้วยการพูดคุยสอบถามถึงกิจกรรมสำคัญ โดยใช้ชุดคำถามที่มีความเฉพาะ มุ่งเน้นการแนะนำ สร้างความเข้าใจ ในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยส่วนบุคคลและความปลอดภัยในกระบวนการผลิต
- • การตรวจสอบความปลอดภัยในกระบวนการผลิต โดยมีการกำหนดแผนการตรวจสอบ รายการตรวจสอบ (Checklist) การรายงาน การตรวจติดตามการแก้ไข และวิเคราะห์ผลอย่างเป็นระบบ
- • การจัดทำแผนการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety Competency Development Matrix) ตามแนวทางของ COE (Community of Expert) ครอบคลุมบทบาทหน้าที่ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในกระบวนการผลิต และดำเนินการฝึกอบรมฯ รวมถึงการประเมินความรู้ความสามารถตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานมีความรู้ ความสามารถและทักษะทางด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิตที่เหมาะสมตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และนำไปสู่ผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศอย่างยั่งยืน
- • การพัฒนาปรับปรุงการทบทวนความปลอดภัยก่อนเดินเครื่องจักร (Pre Startup Safety Review: PSSR) ทั้งในส่วนของระเบียบวิธีปฏิบัติ และแบบสำรวจความปลอดภัย (PSSR Checklists) ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล เพื่อเตรียมพร้อมรองรับโครงการ CFP ที่จะทำการ Commissioning และ Start up ในอนาคต
- • การส่งเสริมให้พนักงานและผู้รับเหมาศึกษาและเรียนรู้จากอุบัติเหตุร้ายแรง (Learning from Incident) และการปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล โดยนำความรู้ที่ได้มาทบทวนและปรับปรุงความปลอดภัยในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินของบริษัทฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติภัยร้ายแรง ทั้งยังเป็นการพัฒนาการจัดการเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤตให้ก้าวสู่ระดับสากล
- • การสร้างความตระหนักและการป้องกันการรั่วไหลของสารไฮโดรคาร์บอนหรือสารเคมีอันตรายจากภาชนะบรรจุหลัก (Loss of Primary Containment Prevention: LOPC Prevention) โดยมีการทบทวนและยกระดับกระบวนการจัดการและห่วงโซ่ของ LOPC ครอบคลุมการรายงาน การสอบสวน การวิเคราะห์ และการเรียนรู้จาก LOPC ที่เคยเกิดขึ้น (Learning from Incident: LFI) รวมถึงการจัดการและการป้องกันเชิงรุก เช่น Corrosion Under Insulation inspection, Flange assurance และ Gasket control เป็นต้น ทั้งนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับผู้บริหารทำหน้าที่ขับเคลื่อนและให้การสนับสนุนโครงการ LOPC Prevention ให้บรรลุเป้าหมายความปลอดภัยที่กำหนดไว้
- • การจัดกิจกรรมการสำรวจความปลอดภัยของเครื่องจักรและอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต (Reliability Walkabout Campaign) เพื่อสร้างความตระหนักให้กับพนักงานที่ปฏิบัติงาน ในการค้นหาแหล่งหรืออุปกรณ์ที่มีศักยภาพหรือความเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลของสารไวไฟหรือสารเคมีจากภาชนะบรรจุหลักหรือกระบวนการผลิต (LOPC)
- • การจัดทำตารางการอบรมความปลอดภัยในกระบวนการผลิตของพนักงานและผู้รับเหมา (Process Safety Knowledge) เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานและผู้รับเหมาที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่กลุ่มไทยออยล์ มีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสม
ผลการดำเนินงานปี 2566
ในปี 2566 มีเหตุการณ์รั่วไหลของสารไวไฟหรือสารเคมีจากภาชนะบรรจุหลัก หรือกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง (Tier 1) ตามข้อกำหนด API 754 จำนวน 1 เหตุการณ์ หรือคิดเป็น 0.04 เหตุการณ์ต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงาน ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายของปี 2566 ซึ่งตั้งไว้ที่ 0 เหตุการณ์ต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงาน อย่างไรก็ตาม กลุ่มไทยออยล์มีการสืบสวนหาสาเหตุเพื่อแก้ไขและป้องกันในอนาคต จากการสอบสวนเหตุการณ์ พบว่า ระบบตรวจจับที่ได้ติดตั้งไว้และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามารถตรวจจับและพบเจอเหตุการณ์ได้ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็วและไม่ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของกระบวนการผลิต
Update : กุมภาพันธ์ 2567
กลุ่มไทยออยล์มีคณะกรรมการ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานซึ่งทําหน้าที่จัดการดูแลให้พนักงานทุก คนมีความปลอดภัยในการทํางาน พร้อมกําหนดกฎระเบียบ ข้อกําหนด และวิธีการทํางานที่ปลอดภัยพร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน อันตรายต่างๆ ตลอดจนให้การศึกษาอบรมแก่พนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจในงานที่ทําโดยมีการตรวจสอบ ติดตาม และทบทวนผล การดําเนินงานอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มไทยออยล์กําหนดนโยบายความปลอดภัยฯ ระเบียบวิธีปฏิบัติและวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงระเบียบด้านการบุคคล (Blue Book) หมวดที่ 11 ซึ่งเป็นคู่มือที่ลงนามร่วมกันระหว่างองค์กรและกรมแรงงาน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนที่จะปฏิบัติ ตามวิธี การและแนวทางต่างๆ ที่กําหนดไว้ ตั้งแต่เริ่มทํางาน และรายงานต่อผู้บังคับบัญชาสําหรับเหตุการณ์ท่ีมีศักยภาพก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรืออันตรายหรือความเสียหาย |
|
การขนส่งของกลุ่มไทยออยล์ดำเนินงานภายใต้ระบบการบริหารจัดการขนส่งที่สอดคล้อง กับกลุ่ม ปตท. ซึ่งประกอบด้วย การจัดการด้านความปลอดภัย การบริหารจัดการพนักงาน ขับรถ รายการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเข้ารับผลิตภัณฑ์ และระบบการตรวจ สอบเพื่อให้การขนส่งตรงตามเวลาและข้อกำหนด โดยมุ่งลดการปฏิบัติที่เสี่ยงต่อ ความปลอดภัย |