การปฎิบัติตามหลักการ
กำกับดูแลกิจการที่ดี
ไทยออยล์ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาและดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี จึงให้ความสําคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และมีกระบวนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึง บริษัทฯ ได้ปลูกฝังแนวคิดและการปฏิบัติของบุคลากร ในการยึดถือและปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ อันถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญในการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน รวมถึงมีการกำหนด I-Integrity ในค่านิยมองค์กร POSITIVE ซึ่งมีการส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติตามและยังนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินโบนัส (Variable Bonus) ของพนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไปอีกด้วย

นอกจากนั้น ไทยออยล์มีการทบทวนนโยบาย หลักการ และแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ ประกาศ และแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีของหน่วยงานกำกับดูแล หลักการและเกณฑ์ประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการของสถาบันต่างๆ จากการดำเนินการต่างๆข้างต้น ส่งผลให้ไทยออยล์ได้รับการประเมินจากหน่วยงานภายนอก (Third Party Verification) ในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผ่านการประเมินการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท ดำเนินการโดยการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) โดยในปี 2567 ไทยออยล์ได้รับผลการประเมิน CGR ที่ 112 คะแนน และอยู่ในระดับ “ดีเลิศ”(มากกว่า 90 คะแนน) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ซึ่งอยู่ใน Top Quartile ของบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่า ทางการตลาดไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
การประเมิน CGR ริเริ่มโดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในปี 2567 เกณฑ์การประเมิน CGR ได้รับการพัฒนาโดยอ้างอิงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organization for Economic Cooperation and Development: OECD)และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 (CG Code 2017) เป็นกรอบในการพิจารณา โดยแบ่งออกเป็น 4 หมวดดังนี้
สิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
น้ำหนัก 25%
การคำนึงถึงบทบาทของ
ผู้มีส่วนได้เสียและการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
น้ำหนัก 25%
การเปิดเผยข้อมูล
และความโปร่งใส
น้ำหนัก 15%
ความรับผิดชอบของ
คณะกรรมการ
น้ำหนัก 35%
ระบบการกำกับการปฏิบัติงานของบริษัทฯ ได้รับการประเมินผ่านคำถามต่างๆ เช่น
- บริษัทกำหนดนโยบายและแนวปฎิบัติเกี่ยวกับการควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง (หมวด 4 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการหมวดย่อย 4.2 การปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแล ข้อ 31.)
- บริษัทเปิดเผยกระบวนการประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชันและผลการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (หมวด 2 การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียและการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หมวดย่อย 2.3 การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสังคม ข้อ 29.)
- บริษัทจัดให้มีผู้รับผิดชอบ หรือหน่วยงานกำกับการปฏิบัติงาน (Compliance) (หมวด 4 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ หมวดย่อย 4.2 การปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแล ข้อ 34.)
- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการกำากับดูแลบริษัท ย่อยและบริษัทร่วม รวมถึงเปิดเผยผลการติดตามการปฏิบัติ (หมวด 4 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ หมวดย่อย 4.2 การปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแล ข้อ 28.)