การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม

การบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ความท้าทาย ความเสี่ยง และผลกระทบ

กลุ่มไทยออยล์ดําเนินการทบทวนความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในรอบด้านเป็นประจําทุกปี โดยในปี 2566 นอกจากความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น การกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) เป็นต้น ด้านการจัดการคุณภาพอากาศ อาทิ การควบคุมการระบายไอสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) การปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน การเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาวะภัยแล้งของประเทศ และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณกลุ่มไทยออยล์แล้ว ยังพบว่า ความเสี่ยงและความท้าทายของกลุ่ม
ไทยออยล์อีกประเด็น คือ การดำเนินกิจการของกลุ่มไทยออยล์ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด โดยเป็นความเสี่ยงที่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ดังนั้น กลุ่มไทยออยล์จึงได้ยกระดับการบริหารงานโครงการก่อสร้างต่างๆ หรือการควบคุมกระบวนการผลิตไม่ให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน ผ่านกระบวนการจัดการด้านความยั่งยืน หรือด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, and Governance: ESG) อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับกระบวนการทำงานและระเบียบวิธีปฏิบัติงานที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ครอบคลุมทั้งโครงการก่อสร้างทุกขนาดภายในกลุ่มไทยออยล์ และควบคุมกระบวนการผลิตในปัจจุบันให้อยู่ในสภาวะปกติ รวมถึงให้ความสำคัญการตรวจสอบความสอดคล้องในการปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติและข้อกำหนดต่างๆ และการเตรียมความพร้อมรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ

ความมุ่งมั่น และเป้าหมาย

กลุ่มไทยออยล์ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นยกระดับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับแนวโน้มและทิศทางของโลก มุ่งสู่การเป็นธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมกับความใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบ และสร้างโอกาสทางธุรกิจในระยะยาวเคียงข้างชุมชน ตามแนวการจัดการด้านความยั่งยืน หรือ ESG ดังที่ระบุไว้ตั้งแต่ระดับนโยบาย และประยุกต์ใช้ระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและสากลมาใช้ในการกำกับดูแลและยกระดับระบบบริหารจัดการและแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้ยกระดับการความมุ่งมั่นด้านนโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และการจัดการพลังงาน โดยได้รับการพิจารณาและลงนามจากคณะกรรมการบริษัทฯ (Board of Directors) เพื่อผลักดันการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมาย

ตัวชี้วัด หน่วย เป้าหมายปี 2566 เป้าหมายระยะยาวปี 2573
ข้อร้องเรียนด้านอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม จำนวนข้อร้องเรียน 0 0
การปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่สอดคล้องต่อกฎหมาย จำนวนกรณี 0 0
การปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องในระดับ Major ตามมาตรฐาน ISO 14001: 2015 (Major Non-compliance)  จำนวนกรณี 0 0
การรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมีอย่างมีนัยสำคัญสู่สิ่งแวดล้อม จำนวนกรณีการรั่วไหล 0 0
การปฏิบัติตามธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่เป็นเลิศของโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ร้อยละ 100 100

แนวทางการบริหารจัดการและผลการดำเนินงาน 

การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

แนวทางการบริหารจัดการ

กลุ่มไทยออยล์มุ่งเน้นความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ด้านสังคม (Social) และด้านบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG และประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในการขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กร โดยกำหนดกลยุทธ์และแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมตั้งแต่ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อการเติบโตของธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่ของการผลิต

  • กลยุทธ์ระยะยาว: เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจในระยะยาว แบ่งเป็น 2 กลยุทธ์หลัก คือ กลยุทธ์การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) และกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีโครงสร้างในการกำกับดูแลการดำเนินงานที่ชัดเจน
  •  
  • กลยุทธ์ระยะสั้นถึงระยะกลาง: เพื่อควบคุมและป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่แหล่งกำเนิด การผลักดันการดำเนินงานด้าน ESG ที่มีความยืดหยุ่น พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับแนวโน้มและทิศทางของโลกและกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะยาว โดยขับเคลื่อนผ่านกลยุทธ์การบริหารจัดการ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ O2Bx (Operation Excellence to Business Excellence) และนำโมเดล “Refinery in The City” มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ 3 ด้าน คือ การบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Management) การสร้างสรรค์คุณค่าธุรกิจสู่สังคม (Social Management) และการดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมาย-ธรรมาภิบาล (Governance Compliance) นอกจากนี้ เพื่อผลักดันการบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศทั้ง 3 ด้านข้างต้นอย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการที่เรียกว่า “CARE Concept” ดังนี้
    • C–Control Right (ดูแลด้วยใจ): ควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมาย พร้อมยกระดับการบริหารจัดด้านสิ่งแวดล้อมผ่านระบบใบอนุญาตการทำงาน Permit to Work-Job Safety Environmental Analysis (JSEA) เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากแหล่งกำเนิดต่อชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการผลิต การก่อสร้าง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ที่จะทำการเริ่มทดลองเดินระบบ (Commissioning and Start up) รวมถึงการคมนาคมขนส่ง เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของชุมชนโดยรอบ (Community Engagement)
    • A–Awareness & Communication Right (ห่วงใย-สื่อ-ประสาน): เสริมสร้างความตระหนัก สื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสีย และสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินการป้องกันและลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่มไทยออยล์ด้วยนโยบายความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน สังคม ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
    • R–Recycling Right (หมุน-ลด-ซ้ำ-ใช้งาน): บริหารจัดการทรัพยากร เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยกลยุทธ์ 3Rs (Reduce, Reuse, and Recycle) และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
    • E–Eco-Society Right (บูรณาการสังคม): สร้างคุณค่าสู่สังคมผ่านแนวคิด Partner for Life CSR เพื่อปลูกฝังจิตสาธารณะและความรับผิดชอบต่อสังคมของพนักงาน และส่งเสริม “วัฒนธรรมจิตอาสา” และกระตุ้นพนักงานให้สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ เกิดเป็น “การเชื่อมโยงคุณค่าสู่สังคม
  • กลุ่มไทยออยล์ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ตอบแทนผลประโยชน์ให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและความสุขของชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมเชิงรุกที่มีการศึกษาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ทั้งภายนอกและภายใน (Environmental Outlook) ให้สอดรับกับความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ (Stakeholder Need and Expectation) เช่น ชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บริหาร พนักงานผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนด กฎหมาย และมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมของโลก (Mega Trend) เป็นต้น โดยนำมาวิเคราะห์หาโอกาสในการปรับปรุงและยกระดับแผนการดำเนินงานสิ่งแวดล้อม 5 ปี หรือที่เรียกว่า “แผนแม่บทสิ่งแวดล้อม 5 ปี (5 Years Environmental Master Plan)” เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานและขับเคลื่อนการบริหารจัดการความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มไทยออยล์ ตลอดจนเพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้

  • กลุ่มไทยออยล์มีการส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานที่สอดคล้องกับนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการจัดการ    สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของบริษัทฯ เช่น การอบรมด้านภาษีคาร์บอน การอบรมด้านการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การอบรมด้านการจัดทำฐานข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการอบรมตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้จัดการสิ่งแวดล้อมและผู้ปฏิบัติงานสิ่งแวดล้อมประจำระบบบำบัดมลพิษ โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมรวมทั้งสิ้น 34 คน ซึ่งบริษัทฯ จะมีการดำเนินการต่อเนื่องในทุกปี เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับพนักงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

  • นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์ได้นำระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและสากลมาประยุกต์ใช้ เช่น ระบบมาตรฐาน ISO 14001 แนวทางปฏิบัติตามธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่เป็นเลิศ ระบบมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม CSR (ISO 26000) ภายใต้โครงการ CSR–DIW ระบบการจัดการสู่ความเป็นเลิศ Operational Excellence Management System (OEMS) ของกลุ่ม ปตท. แนวทางการจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มาตรฐานการรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) และแนวทางปรับปรุงสู่การเป็นเลิศตามผลการประเมินดัชนีความ ยั่งยืนระดับโลก Dow Jones Sustainability Index (DJSI) เป็นต้น มาใช้กำกับและพัฒนาระบบการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยง การกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การควบคุมการปฏิบัติ การเฝ้าระวังติดตาม การตรวจสอบ การรายงานผล การกำหนดดัชนีชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ และการปรับปรุงเพื่อพัฒนาและยกระดับระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดห่วงโซ่ของกระบวนการผลิตจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมการดำเนินงานในสภาวะต่างๆ ดังนี้

กระบวนการผลิตปกติ

กลุ่มไทยออยล์ทบทวนความเสี่ยง ประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการควบคุมป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกระบวนการผลิตตั้งแต่แหล่งกำเนิดเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อีกทั้งยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ได้แก่

  • การกำกับดูแลกิจการที่ดี 
  • ขั้นตอน/ แนวทางการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม 
  • กลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
  • การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 
  • การบริหารจัดการประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ 
  • ความหลากหลายทางชีวภาพ 
  • การบริหารจัดการคู่ค้าและผู้รับเหมา 
  • การดำเนินการและการตรวจสอบความสอดคล้อง 
  • การบริหารจัดการฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการขยายหน่วยกลั่น กลุ่มไทยออยล์ใช้หลักเกณฑ์ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Standard Specification) ที่ครอบคลุมข้อกำหนด กฎหมาย แนวทางการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) และมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้หลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติงานในโครงการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Construction) ที่สามารถตอบสนองต่อข้อกำหนดและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง

โครงการที่โดดเด่น

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ดำเนินการโครงการต่างๆ เพิ่มเติม เช่น

ยกระดับการควบคุมการระบายไอสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) โดยนำคู่มือหลักปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่างกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสมาชิกในมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารเคมีอันตรายและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาประยุกต์ใช้ในการควบคุม VOCs จากกิจกรรมซ่อมบำรุง (Maintenance) ถังกักเก็บน้ำมัน (Storage tank) และการใช้หอเผาทิ้ง (Flare) พร้อมการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในการปลดปล่อย VOCs อย่างใกล้ชิด โดยในปี 2566
กลุ่มไทยออยล์ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า “Scrubber Unit Machine” เพื่อช่วยลดการระบาย VOCs และนำมาใช้งานจริงในงานซ่อมบำรุงถังกักเก็บน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการทบทวนประสิทธิภาพของการเผาไหม้ในหอเผาทิ้ง (Flare Capacity) และปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับงานซ่อมบำรุงในการลด VOCs เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานซ่อมบำรุงใหญ่หน่วยกลั่น ในปี 2567 และ ปี 2568 ต่อไป

  • Scrubber Unit Machine ที่พัฒนาเพื่อใช้ลด VOCs ในงานซ่อมบำรุงถังในปี 2566

​กระบวนการผลิตในสภาวะไม่ปกติ 

สภาวะไม่ปกติ 

กลุ่มไทยออยล์จัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและมวลชนสัมพันธ์ (Environmental and Community Relation Committee: ECRC) โดยกลุ่มไทยออยล์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และชุมชนโดยรอบพื้นที่กระบวนการผลิต เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ควบคุมป้องกันผลกระทบต่อชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ตามหลัก 3 ประสาน และแนวคิด 5 ร่วม โดยร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมรับผล และร่วมพัฒนา ตั้งแต่การวางแนวทางปฏิบัติการเชิงรุก ตลอดจนการแก้ไขประเด็นปัญหาเป็นทีมเมื่อเกิดสภาวะไม่ปกติ โดยมีการดูแลรับผิดชอบ 7 วัน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกิจกรรมและเวทีสื่อสาร เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน เฝ้าระวัง และตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับข้อกำหนด กฎหมาย และเป้าหมายการดำเนินงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนโดยรอบจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งคณะกรรมการฯ จะมีการประชุมเพื่อวิเคราะห์ข้อกังวลและข้อเสนอแนะจากชุมชนสำหรับการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานประจำทุกเดือน และมีการจัดทำแบบสำรวจทัศนคติชุมชนเป็นประจำทุกปี

การประชุมหารือการจัดทำแผนเฝ้าติดตามและแผนฟื้นฟู ร่วมกับหน่วยงานราชการ

 

สภาวการณ์ฉุกเฉินทางด้านสิ่งแวดล้อม

การป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมีนับเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินงานของกลุ่มไทยออยล์ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ประสบอุบัติเหตุมีการรั่วไหลของน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 1 ครั้ง ตามหลักเกณฑ์ของสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (Oil Industry Environmental Safety Group Association: IESG) ซึ่งทางกลุ่มไทยออยล์สามารถบริหารจัดการการรั่วไหลของน้ำมันได้อย่างรวดเร็ว และบริษัทฯ มีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในการป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการป้องกัน

  • 1.1 การใช้เรือที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องด้วยระบบการประเมินคุณภาพเรือของกลุ่ม ปตท. (PTT Group Ship Vetting System) โดยมีกัปตันของบริษัทฯ และกัปตันจากกลุ่ม ปตท. ร่วมกันทำการประเมินเอกสารด้านความปลอดภัยของเรือต่างๆ เช่น เอกสารการตรวจเรือ SIRE (Ship Inspection Report Program) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลจาก OCIMF (Oil Company International Marine Forum) ข้อมูลของเรือจากเว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น Sea Website และข้อมูลเรือที่ปฏิบัติงาน (Terminal Feedback) ร่วมกันในกลุ่ม ปตท. นำมาพิจารณาในเรื่องของความปลอดภัยทั้งหมด พร้อมทั้งมีการทวนสอบ การประเมินคุณภาพเรือในกลุ่ม ปตท. ซึ่งกันและกัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลุ่มไทยออยล์จะใช้เรือและคนประจำเรือที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
  • 1.2 การบำรุงรักษาท่าเรือ ทุ่นผูกเรือ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานขนถ่ายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตามระยะเวลา เช่น ท่อส่งน้ำมัน ทั้งที่อยู่บนท่าเรือและอยู่ที่ทุ่นกลางทะเล ข้อต่อนิรภัย เชือกผูกเรือ ซึ่งในปี 2566 ฝ่ายวิศวกรรมของบริษัทฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบประจำปี (Annual Inspection) ของทุ่นผูกเรือรับน้ำมัน ชนิดทุ่นเดี่ยวกลางทะเล (Single Buoy Mooring: SBM) ทั้ง SBM-1 และ SBM-2 อีกทั้งได้มีการตรวจสอบทุ่นผูกเรือรับน้ำมัน ชนิดหลายใบ (Conventional Buoy Mooring: CBM) และโซ่ ซึ่งเป็นระบบยึดโยงทุ่น พบว่าทุกระบบมีความปลอดภัยตามมาตรฐานทางวิศวกรรม
  •  

 

 

  • 1.3 การตรวจความปลอดภัยของเรือ (Tanker Safety Check) ทั้งเรือในประเทศและต่างประเทศที่ปฏิบัติงานอยู่ที่ท่าเรือของกลุ่ม
    ไทยออยล์ ผู้จัดการแผนกท่าเรือจะส่งผู้ปฏิบัติงานในแผนกลงไปทำการตรวจเรือด้านความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากพบข้อบกพร่องจะแจ้งให้กัปตันเรือและผู้บริหารของเรือทราบ เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก รวมถึงอาจมีการระงับการใช้เรือเป็นการชั่วคราว หากพบว่าข้อบกพร่องนั้นไม่เป็นไป หรือไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้
  • 1.4 การส่งพนักงานของแผนกท่าเรือเข้าร่วมประชุมและทำกิจกรรมร่วมกับ IESG อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางทะเลและการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

1.5 การประชุมประจำปีระหว่างสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกล่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (Oil Industry Environmental Safety Group - IESG) กับผู้บริหารของบริษัทเรือไทยต่างๆ เป็นประจำทุกปี โดยที่บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นสมาชิกของ IESG
ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีการนำข้อมูลไปสื่อสาร เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลของบริษัทฯ ในเรื่องความปลอดภัยของเรือและท่าเรือ เช่น ระเบียบการใช้ท่าเรือที่มีการปรับปรุง ตลอดจนข้อบกพร่องต่างๆ ที่พบจากการสุ่มตรวจความปลอดภัยของเรือ ได้รับการสื่อสารและนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ปราศจากอุบัติเหตุและมลภาวะ ทั้งเรือและท่าเรือ 

 

 

2. ด้านการแก้ไข

แม้ว่ากลุ่มไทยออยล์จะมีมาตรการป้องกันอย่างเต็มกำลังตามมาตรฐานสากลข้างต้นแล้ว แต่หากมีอุบัติเหตุใดๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้เกิดขึ้น ดังเช่นการเกิดอุบัติเหตุน้ำมันหกรั่วไหลที่ทุ่น SBM-2 เมื่อเดือนกันยายน 2566 กลุ่มไทยออยล์มีมาตรการเพื่อดำเนินการแก้ไข ดังนี้

  • 2.1 กัปตันของบริษัทฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าในการขนถ่ายน้ำมัน (Loading Master) แจ้งเรือให้ทำการหยุดสูบส่งสินค้าฉุกเฉิน (Emergency Shut Down: ESD) และปิดวาล์วทุกตัวบนเรือ เพื่อไม่ให้ในระบบการขนถ่ายน้ำมัน มีการอัตราการไหลของน้ำมันและ
    แรงดันในระบบ อันจะทำให้มีการรั่วไหลออกสู่ทะเลที่เพิ่มมากขึ้น
  • 2.2 ให้เรือบริการ ซึ่งประจำอยู่ที่ทุ่น ดำเนินการปิดวาล์วทุกตัว ทั้งที่อยู่บนทุ่นและอยู่ใต้น้ำ เพื่อไม่ให้น้ำมันที่อยู่บนถังของโรงกลั่นไหลย้อนกลับออกมารั่วไหลในทะเลอีก โดยเป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • 2.3 กัปตันของบริษัทฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าในการขนถ่ายน้ำมัน (Loading Master) สั่งการผู้รับเหมาของบริษัทฯ ดำเนินการล้อมบูม (Oil Absorbent Boom) ตลอดแนวท่อน้ำมันเพื่อเป็นการควบคุมคราบน้ำมันให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่ให้ออกสู่ทะเล จนยากแก่
    การควบคุม ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมในการใช้งานหากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอยู่บนเรือในสัญญาของบริษัทฯ
  • 2.4 ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันของบริษัทฯ เพื่อลดและบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งสามารถควบคุมสถานการณ์ในท้ายที่สุด 

 

 

3. ด้านการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นซ้ำ

เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาครัฐ ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย กลุ่มไทยออยล์จะดำเนินการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของน้ำมันภายหลังจากที่หน่วยงานราชการได้อนุญาตให้บริษัทฯ เข้าไปดำเนินการ โดยบริษัทฯ จะสอบสวนหาสาเหตุเป็นการภายใน เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของสาเหตุที่น่าจะเกิดขึ้นควบคู่กันไป พร้อมกับเตรียมแผนงานและดำเนินการป้องกัน เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ซ้ำอีก

 

 
การทดสอบไฟฟ้า การทดสอบแรงดัน

4. ด้านการพัฒนาบุคลากร

กลุ่มไทยออยล์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการขจัดคราบน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่รั่วไหลสู่
สิ่งแวดล้อม โดยในปี 2566 บริษัทฯ สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมความรู้ความสามารถของบุคลากรในการขจัดคราบน้ำมัน โดยกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปในปี 2566 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • 4.1 การฝึกสถานการณ์น้ำมันหกรั่วไหลในทะเล ซึ่งเป็นการฝึกการแก้ปัญหาในที่บังคับการ (Table Top Exercise) ให้กับผู้ที่อยู่เวรปฏิบัติหน้าที่ตามแผนฉุกเฉินของบริษัทฯ โดยสมมติสถานการณ์ท่อน้ำมันดิบชนิดลอยน้ำแตก (Floating Hose) ขณะสูบถ่ายที่ทุ่น
    SBM-2 ส่งผลให้น้ำมันดิบรั่วไหล ตลอดจนลุกลามเข้าสู่ชายฝั่งที่หาดบางละมุง ซึ่งเป็นทั้งแหล่งประมงพื้นบ้านและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย
  •  
  •  
  •  
  •  
  • 4.2 การส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรม Oil Spill Response (OSR) IMO Level 1 for Responder สำหรับพนักงานที่ยังไม่ได้รับ
    การอบรม ซึ่งจัดโดย IESG และ Oil Spill Combat Team (OSCT-Thailand) เมื่อวันที่ 13-15 กันยายน 2566
  •  
  •  
  •  
  • 4.3 ร่วมกับสมาคม IESG ในเขตพื้นที่ศรีราชา ในการสำรวจชายหาดต่างๆ ที่เกาะสีชัง (Shore Line Assessment) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถเห็นและเข้าใจสภาพของพื้นที่เกาะต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีความอ่อนไหว ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการทบทวนและสำรวจ (Reassessment) ทุกๆ 5 ปี เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด
  •  
  •  

 

สำหรับในปี 2567 กลุ่มไทยออยล์มีแผนงานที่สำคัญ ดังนี้

  • 1. การฝึกซ้อมขจัดคราบน้ำมันร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันในเขตพื้นที่ศรีราชา (IESG-SASC) โดยเป็นการฝึกซ้อมร่วมกันระหว่างบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการฝึกซ้อม
  • 2. การสำรวจชายหาดต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่ (Shore Line Assessment) ร่วมกับ IESG-SASC ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งที่ 2 ภายหลังจากการสำรวจครั้งก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อสำรวจการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ และนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาใช้ในการทบทวนและจัดทำแผนงานล่วงหน้า กรณีที่น้ำมันขึ้นฝั่ง (Pre-incident Plan)
  • 3. การฝึกทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์น้ำมันและสารเคมีรั่วไหลลงทะเล ในระดับ First Line ในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบของบุคลากรในแผนกท่าเรือ
  • 4. การสนับสนุนให้การฝึกอบรมการจัดการแก้ไขสถานการณ์เมื่อสารเคมี (Paraxylene) รั่วไหลในทะเล แก่พนักงานของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) คลังน้ำมันศรีราชา
  • 5. พัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะของบุคลากร โดยพิจารณาจัดส่งบุคลากรเข้าฝึกอบรม หรือร่วมประชุมสัมมนาต่างๆ ในด้านการป้องกันและแก้ไขการรั่วไหลของน้ำมันในทะเล

โครงการที่โดดเด่น

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้นำโครงการพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการต่อสภาวะไม่ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จมาใช้งานจริง เช่น

  • กลุ่มไทยออยล์ได้ร่วมกับฝ่ายนวัตกรรมของบริษัท ปตท. ทำการศึกษาและทดลองนำระบบ Electronic Nose (E-nose) มาช่วยเฝ้าระวัง ตรวจจับ และแจ้งเตือนกลิ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตและกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อพนักงาน พนักงานผู้รับเหมา ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้บริษัทฯ สามารถค้นหา หรือชี้บ่งแหล่งกำเนิดของกลิ่นและทำการปรับปรุงแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว 

การทดลองติดตั้งเครื่องมือ E-nose บริเวณกลุ่มไทยออยล์

 

ผลการดำเนินงานปี 2566

 

การบริหารจัดการด้านคุณภาพอากาศ 

แนวทางการบริหารจัดการ

กลุ่มไทยออยล์ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตของธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเคียงข้างชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการควบคุมคุณภาพอากาศ ได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ออกไซด์ของซัลเฟอร์ (SOx)
สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และฝุ่นละออง (PM) เป็นต้น ตั้งแต่การออกแบบ โดยเลือกและติดตั้งเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในระดับสากล มาใช้ในการควบคุมกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ ตลอดจนมีการเฝ้าระวังและตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณแหล่งกำเนิด และคุณภาพอากาศในบรรยากาศบริเวณพื้นที่โดยรอบตามแผนที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ และนำเทคโนโลยีการตรวจสอบคุณภาพอากาศที่มีการตรวจวัดและแสดงผลแบบเป็นปัจจุบัน (Real Time) รวมถึงมีการติดตามผลการดำเนินงานด้านคุณภาพอากาศตามวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล (International Best Practice) และได้รับการทวนสอบและรับรองระบบการบริหารจัดการและการรายงานผลข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมโดยหน่วยงานภายนอกเป็นประจำทุกปี

การจัดการออกไซด์ของไนโตรเจนและออกไซด์ของซัลเฟอร์ (NOx และ SOx

กลุ่มไทยออยล์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกำหนดมาตรการป้องกัน เพื่อควบคุมการปลดปล่อย NOx และ SOx จากกระบวนการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเป็นหลัก เพื่อควบคุมและลดปริมาณการปลดปล่อย กลุ่มไทยออยล์ได้เลือกและติดตั้งเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในระดับสากลและเดินเครื่องระบบ Sulphur Recovery Unit (SRU) ต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการนำกำมะถันจากก๊าซเสียกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์กำมะถันเหลวที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อได้ ทดแทนการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งเปลี่ยนเทคโนโลยีของหัวเผา (Burner) เป็น Ultra-Low NOx Burner ของหัวเผาทั้งหมดที่สามารถเปลี่ยนทดแทนเทคโนโลยีเดิมได้ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อลดการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจนจากการเผาไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนควบคุมสัดส่วนการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษสูง และดำเนินโครงการติดตามกลุ่มควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง (White Smoke Monitoring) อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองและบริหารจัดการตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นของการผิดปกติ ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่แหล่งกำเนิดและคุณภาพอากาศในบรรยากาศบริเวณพื้นที่ชุมชนโดยรอบ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ Continuous Emission Monitoring System (CEMS) และ Air Quality Management System (AQMS) ตามลำดับ และการตรวจวัดโดยผู้ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากหน่วยงานภายนอก ตลอดจนมีการรายงานผลผ่าน Environmental Daily Dashboard ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกวัน ส่งผลในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์สามารถควบคุมการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจนและออกไซด์ของซัลเฟอร์ได้ดีกว่าค่ามาตรฐานและค่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

นอกจากนั้น ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ยังคงดำเนินโครงการเพื่อควบคุม SOx และ NOx เพิ่มเติม เช่น

  • กลุ่มไทยออยล์ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ Predictive Emission Monitoring System (PEMS) มาใช้เทียบเท่า หรือทดแทน Continuous Emission Monitoring System (CEMS) ซึ่งเป็นวิธีการ (Method) ที่ USEPA รับรอง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้พิจารณาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศที่ปล่อยออกจากปล่องระบาย (Stack) และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเทียบเท่ามาตรฐานสากลต่อไป

การจัดการสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) 

กลุ่มไทยออยล์ควบคุมสารอินทรีย์ระเหยง่าย โดยประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรการป้องกันและติดตามตรวจสอบการระบายของสารอินทรีย์จากแหล่งกำเนิดต่างๆ ของกระบวนการผลิตที่ครอบคลุมการปล่อยจากหอเผาทิ้ง (Flare) การเผาไหม้เชื้อเพลิง (Combustion)
ถังกักเก็บ (Tank) การขนถ่ายผลิตภัณฑ์ (Loading) ระบบบำบัดน้ำเสีย (Effluent Treatment Plant: ETP) และการรั่วซึมจากกระบวนการผลิต (Fugitives) ผ่านการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ (Operational Excellence) เช่น

  • หอเผาทิ้ง (Flare): ทบทวนประสิทธิภาพของหอเผาทิ้ง ซ่อมบำรุง และควบคุมเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ส่งผลให้ต้องระบายสารอินทรีย์ระเหยง่ายออกสู่หอเผาทิ้ง 
    ถังกักเก็บ การขนถ่ายผลิตภัณฑ์: เลือกใช้ประเภทของถังกักเก็บที่เหมาะสมกับสาร หรือน้ำมันที่บรรจุ และติดตั้ง Vapor Recovery Unit (VRU) ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 99 เพื่อบำบัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากการขนถ่ายผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา
    ระบบบำบัดน้ำเสีย: ดำเนินตรวจติดตามสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากระบบบำบัดน้ำเสียเป็นประจำ เพื่อหาโอกาสในการปรับปรุง อันนำมาสู่โครงการศึกษาปิดคลุมระบบบำบัดน้ำเสีย (ETP Cover Project) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบ ETP Cover เพื่อลดการระบายสาร VOCs ออกสู่สิ่งแวดล้อมได้
    การรั่วซึมจากกระบวนการผลิต: ควบคุมและติดตามตรวจสอบการระบายผ่านการใช้กล้องตรวจจับการระบายของสารอินทรีย์ระเหยง่าย เพื่อค้นหาจุดรั่วซึมที่สอดคล้องกับข้อกำหนด กฎหมาย และมาตรฐานสากล ที่มีการกำหนดมาตรการในการลดที่สอดคล้องกับ USEPA ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อหาโอกาสในการปรับปรุงเพื่อหยุดการรั่วซึม 
    มาตรการลด VOCs ในงานซ่อมบำรุง: ปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติงานซ่อมบำรุงให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติที่ดี (Best Practice) โดยควบคุมทุกกิจกรรมให้มีการปลดปล่อย VOCs น้อยกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนั้น ปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ยังคงดำเนินโครงการเพื่อควบคุมสารอินทรีย์ระเหยง่ายเพิ่มเติม เช่น

  • กลุ่มไทยออยล์ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า “Scrubber Unit Machine” โดยนำ Wet & Dry Scrubber Technologies มาช่วยลดการระบาย VOCs ให้ต่ำกว่า 500 ppm ก่อนทำการเปิดถังกักเก็บน้ำมันเพื่อซ่อมบำรุง และได้นำมาใช้งานจริงในงานซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดการฝุ่นละออง

คณะทำงาน “PM 2.5 Taskforce” ติดตามสถานการณ์และร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ผลักดัน สื่อสารกิจกรรมดูแลควบคุมฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการ 4Cs คือ Control (ควบคุม) Contain (จำกัด) Clean (ทำให้สะอาด) และ Check (ตรวจสอบ) มาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แหล่งกำเนิด เช่น อาคารสำนักงาน กระบวนการผลิต โครงการก่อสร้าง และพื้นที่ชุมชน ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมและมาตรการของภาครัฐ ทั้งยังมีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองทั้ง PM 10 และ PM 2.5 เป็นประจำ ผ่าน Air Quality Management System (AQMS) และผู้ตรวจสอบจากภายนอก พร้อมทั้งยังมีการสื่อสารมาตการการจัดการ PM 2.5 ผ่าน ENVI E-newsletter ให้พนักงานรับทราบเป็นประจำ

 

การสื่อสารมาตการการจัดการ PM 2.5 ผ่าน ENVI E-newsletter

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้มาตรการ 4Cs ตัวอย่างเช่น

  • C-1 Control: ควบคุมคุณภาพอากาศให้ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด ควบคุมปริมาณการใช้รถและใช้ถนน เช่น การรณรงค์ให้ใช้ Pool Car รับ-ส่ง ของบริษัทมากขึ้น การเปลี่ยน Spec รถ Pool Car เป็นรถไฟฟ้า การใช้กลยุทธ์ Fast & Flow ในการบริหาร
    การจราจรให้คล่องตัว การควบคุมและตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ ควันดำ ควบคุมการปิดคลุมผ้าใบสำหรับรถขนส่งดินและวัสดุอื่นๆ
  • C-2 Contain: จัดกิจกรรมดูแลฝุ่นทางเดิน พรมน้ำเพื่อลดการฟุ้งกระจายและสะสมของฝุ่น ติดตั้งตาข่ายกันฝุ่น ปิดคลุมผ้าใบกันฝุ่นจากรถขนส่ง มีบ่อสำหรับล้างล้อรถยนต์ในโครงการก่อสร้าง ติดตั้งฝอยน้ำ (Water Spray) และจัดเตรียมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่เพียงพอสำหรับพนักงานและผู้รับเหมาที่จำเป็นต้องใช้และอยู่ในพื้นที่เสี่ยง
  • C-3 Clean: กำหนดมาตรการทำความสะอาดภายในอาคาร สถานีขนจ่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันทางรถยนต์ (Lorry Loading) และโครงการก่อสร้าง เช่น ทำความสะอาดพรม ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ จัด กิจกรรม 5ส. กิจกรรม Big Cleaning Day และกิจกรรม TOP Green Road เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมพรมน้ำควบคุมฝุ่นที่ถนนสุขุมวิทของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ
  • C-4 Check: ตรวจติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการ (Site Audit) โดยติดตามผลการตรวจวัดฝุ่นในบรรยากาศ ทั้งจากสถานีของกรมควบคุมมลพิษ (Pollution Control Department: PCD) สถานี TOP AQMS Lorry และเครื่องตรวจวัด PM 2.5 NONG PIM ทั้งภายนอกและภายในอาคารอย่างใกล้ชิด

ผลการดำเนินงานปี 2566