รอบโรงกลั่น

ชุมชนรอบโรงกลั่นของเครือไทยออยล์

ตลอดระยะเวลากว่า 53 ปี เครือไทยออยล์มุ่งเน้นความสำคัญในการมีส่วนร่วมดูแลชุมชนรอบโรงกลั่นควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งทำความเข้าใจ ให้การสนับสนุนหรือจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องให้กับชุมชนรอบโรงกลั่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เปรียบเสมือนชุมชน-โรงกลั่นเป็นครอบครัวเดียวกัน โดยมี ศูนย์สุขภาพและการเรียนรู้เครือไทยออยล์เพื่อชุมชน เป็นศูนย์กลางการบูรณาการชุมชนในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษาเรียนรู้ ด้านศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือไทยออยล์กับชุมชนรอบโรงกลั่นในการช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนาเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างปัจจัยพื้นฐานในการเรียนรู้และสร้างกระบวนการคิด ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้ชุมชนรอบโรงกลั่นมีศักยภาพพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองอย่างแท้จริง

ในปี 2553 เครือไทยออยล์และชุมชนรอบโรงกลั่นได้ร่วมกันก่อตั้ง ศูนย์สุขภาพและการเรียนรู้เครือไทยออยล์เพื่อชุมชน ซึ่งศูนย์สุขภาพฯ แห่งนี้ ประกอบด้วย

หอพระ ซึ่งประดิษฐาน “พระพุทธรัตนมงคลสกลประชานาถมุนี” ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนากิจต่างๆ เช่น การสวดมนต์เย็นชำระใจ การหล่อเทียนพรรษา ช่วยให้เกิดความร่มเย็นทั้งทางกายและจิตใจ

คลินิกทันตกรรม เพื่อส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันขั้นพื้นฐานให้กับเด็กนักเรียน 8 โรงเรียนรอบโรงกลั่น ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งจากฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลแหลมฉบัง

ห้องสมุดมีชีวิต เป็นห้องสมุดซึ่งเครือไทยออยล์ร่วมกับ TK PARK จัดทำโครงการยืมหนังสือหมุนเวียน รวมถึงสื่อเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ตให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการค้นหาความรู้ต่อยอดด้วยตนเอง

ลานอเนกประสงค์ หรือลานออกกำลังกาย และ พื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ จนถึงปัจจุบันนี้ มีผู้คนในชุมชนหลากหลายช่วงอายุ ทั้งเด็กเล็ก นักเรียน หรือผู้ใหญ่ มาใช้บริการศูนย์สุขภาพฯ รวมมากกว่า 150,000 คน

1. งานเวชศาสตร์ชุมชน

 

 
เป็นงานที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ที่หวังให้ชุมชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าใจและตระหนักในเรื่องการดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดี ซึ่งเครือไทยออยล์ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก เทศบาลนครแหลมฉบัง โรงพยาบาลแหลมฉบัง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี ศูนย์ธาลัสซีเมีย โรงพยาบาลศิริราช คณะพยาบาลศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดำเนินการสำรวจสุขภาวะชุมชน และจัดทำแฟ้มครอบครัวด้วยโปรแกรม Family and Community Assessment Program ชื่อย่อคือ “FAP” ซึ่งเป็นโปรแกรมฐานข้อมูลของโครงการเวชศาสตร์ชุมชน เพื่อพัฒนางานสาธารณสุขขั้นมูลฐานของชุมชน ซึ่งศูนย์สุขภาพฯ ได้รับความร่วมมือจาก อาจารย์อุไร จเรประพาฬ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้คิดค้นและพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้น

 

โปรแกรมฐานข้อมูลของโครงการเวชศาสร์ชุมชนแต่ละโปรแกรมมีความแตกต่าง ดังนี้

การสำรวจสุขภาวะครอบครัว (FAP-1) เพื่อเก็บข้อมูลด้านสาธารณสุขพื้นฐานมาวิเคราะห์ ประมวลผลและรายงานผล จัดทำแฟ้มครอบครัว เพื่อเป็น ฐานข้อมูลในการพัฒนาสุขภาวะชุมชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

การคัดกรองความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (FAP-2) เป็นการตรวจหาระดับนํ้าตาลและไขมันในเลือด เพื่อลด ความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน

การสำรวจความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้สูงอายุ (FAP-3) เพื่อช่วยเหลือและดูแลการปรับตัวต่อสภาพสิ่งแวดล้อม ของผู้สูงอายุ ยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งของผู้สูงอายุ และผู้ดูแล

การคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย (FAP-4) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรคเลือดจาง หากทราบว่าเป็นพาหะ หรือเป็นโรคธาลัสซีเมียจะได้รู้จักวิธีการดูแลตนเองและ คู่สมรสในการวางแผนครอบครัวต่อไป

โครงการร่วมพัฒนาระบบติดตามการใช้ยา และสร้างเสริมสุขภาวะครอบครัวและชุมชน (FAP-5 และ FAP-6) เพื่อสำรวจและให้คำแนะนำการใช้ยาเบื้องต้นกับชุมชน รอบโรงกลั่น ให้กลุ่มเสี่ยงสามารถดูแลรักษาตนเองได้ อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรคให้น้อยลง หรืออาจกลับมาเป็นกลุ่มปกติ

โครงการเวชศาสตร์ชุมชนได้ดำเนินงาน FAP 1 – FAP 4 มาตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ปัจจุบันนี้ ( ปี 2557 ) มีฐานข้อมูลแล้ว 6 ชุมชน 3,294 ครอบครัว 11,897 คน และสำหรับ FAP 5 – 6 ได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 เก็บข้อมูลไปแล้ว 113 คน ซึ่งการสำรวจข้อมูลทั้งหมด ทางศูนย์สุขภาพฯ โรงพยาบาลแหลมฉบัง เทศบาลนครแหลมฉบัง และสถาบันการศึกษาต่างๆ จะร่วมกันดำเนินการสำรวจต่อไปจนครบทุกชุมชน และจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพของชุมชนรอบโรงกลั่น เพราะเราเชื่อว่า การร่วมพัฒนาให้ชุมชนและสังคมมีสุขภาวะที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่เข็มแข็ง จะช่วยเครือไทยออยล์อยู่คู่กับชุมชนรอบโรงกลั่นได้อย่างยั่งยืน

2. งานสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน

2.1 โครงการโรงเรียนส่งเสริมทันตสุขภาพรอบเครือไทยออยล์

นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์สุขภาพและการเรียนรู้เครือไทยออยล์เพื่อชุมชน ดำเนิน โครงการ “คลินิกทันตกรรม” ให้บริการทำฟันกับเด็กนักเรียนรอบโรงกลั่นไปแล้วกว่า 15,000 ครั้ง โดยดูแลรักษาช่องปากของเด็กด้วยการให้บริการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ใน 8 โรงเรียนรอบโรงกลั่น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลแหลมฉบัง ภายใต้ข้อตกลงร่วมใน “โครงการร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อชุมชนรอบเครือไทยออยล์” โดยมี โครงการโรงเรียนส่งเสริมทันตสุขภาพรอบโรงกลั่น เป็นโครงการที่ต่อยอดคลินิกทันตกรรมที่ให้การรักษามุ่งเน้นเชิงส่งเสริมป้องกันเรื่องทันตสุขภาพให้กับนักเรียนเนื่องจากปัญหาฟันผุมักเกิดขึ้นในเด็ก การแนะนำดูแลเด็กนักเรียนให้แปรงฟันหลังอาหาร การดูแลช่องปากที่ถูกวิธี

นอกจากนี้เพื่อเป็นการต่อยอดงานด้านส่งเสริมทันตสุขภาพด้วย โครงการสร้างบ่อเก็บน้ำประปา ให้กับโรงเรียนวัดแหลมฉบัง เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนมีน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค ทำความสะอาดฟันหลังรับประทานอาหารกลางวัน นำไปสู่สุขลักษณะและสุขภาพฟันที่ดีของเด็กนักเรียน อีกทั้งเครือไทยออล์ยังได้พิจารณาสร้างบ่อเก็บน้ำประปาอีกโครงการหนึ่ง ให้กับโรงเรียนบ้านชากยายจีน ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำของเด็กนักเรียนไปได้

2.2 โครงการสร้างเด็กแหลมฉบังเป็นแชมป์กระโดดเชือก

โครงการฯ เริ่มมีขึ้นเมื่อปี 2554 ด้วยเจตนาที่ศูนย์สุขภาพฯ โรงเรียนในพื้นที่รอบโรงกลั่น 8 โรงเรียน และคุณครู ต้องการให้เด็กได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญทำให้เด็กสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง มีความเชื่อมั่นที่จะมีแนวทางปฏิบัติที่ดี ห่างไกลยาเสพติด ไม่มั่วสุ่มกับร้านเกมอินเตอร์เน็ต ไม่สร้างปัญหาให้กับตนเองและผู้อื่น เครือไทยออยล์ฯ จึงได้เลือกโครงการ “กระโดดเชือก ทางเลือกเยาวชน พ้นโรคหัวใจ” ของ มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ และทำงานเป็นทีม สร้างความสามัคคีด้วยการกระโดดเชือกเป็นหมู่คณะ จึงนำมาเผยแพร่ในพื้นที่แหลมฉบัง และให้การสนับสนุน โดยจัดการแข่งขันกระโดดเชือกชิงแชมป์ในพื้นที่ชลบุรี เพื่อสรรหาตัวแทนไปแข่งขันระดับประเทศชิงถ้วยพระราชทาน โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมแข่งขันประมาณ 400 คน นอกจากนี้เครือไทยออยล์ยังได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อไปแข่งขันกระโดดเชือกชิงถ้วยพระราชทาน ระดับประเทศ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยในปี 2556 เด็กนักเรียนในพื้นที่แหลมฉบังไปแข่งขันระดับประเทศได้คว้าถ้วยรางวัลทั้งหมด 12 จาก 16 ถ้วยรางวัล แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่ารางวัลดังกล่าวที่ได้รับ เด็กๆ ของโรงเรียนในพื้นที่รอบเครือไทยออยล์ ได้ใช้เวลาว่างทั้งเวลาพักหลังอาหารกลางวัน และหลังเลิกเรียนทุกวัน เล่นกระโดดเชือกที่โรงเรียน ซึ่งเครือไทยออยล์หวังว่า โครงการนี้จะสามารถช่วยส่งเสริมสมรรถนะร่างกายให้แข็งแรง และช่วยพัฒนาความกระตือรือร้นตื่นตัวให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต

3. งานการศึกษาและสนับสนุนการเรียนรู้ชุมชน

เครือไทยออยล์ได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนและนิสิตนักศึกษาที่มีความประพฤติดี มีความกระตือรือร้น ขยันหมั่นเพียร ที่มีภูมิลำเนาและศึกษาอยู่ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และอำเภอศรีราชา รวมทั้งมอบกองทุนเครือไทยออยล์เพื่อสถาบันการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดย ปี 2557 เครือไทยออยล์ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยพาราไซลีน จำกัด สมทบด้วยกลุ่มสมาชิกและชมรมต่างๆ ของพนักงาน ได้แก่ สหภาพแรงงานโรงกลั่นน้ำมันไทย สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานไทยออยล์ ชมรมพนักงานอาวุโส สมาคมศิษย์เก่าไทยออยล์และพนักงานจิตอาสา ได้จัดสรรเป็นทุนการศึกษาแบบปีต่อปีและแบบต่อเนื่อง ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา รวมทั้งสิ้น 221 ทุน และกองทุนเครือไทยออยล์เพื่อสถาบันการศึกษาอีกจำนวน 11 กองทุน อีกทั้งการมอบทุนใน ”โครงการบัณฑิตรักถิ่น” ให้กับบัณฑิตและนิสิตที่กำลังศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อทำงานที่โรงพยาบาลแหลมฉบัง

นอกจากนี้เครือไทยออยล์ยังดำเนินโครงการค่ายเยาวชนวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ โดยนำเยาวชนจากชุมชนรอบโรงกลั่นเข้าค่ายอบรมด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ที่ว่า “ฟังให้รู้ ดูให้จำ ทำให้เข้าใจ” เพื่อสร้างให้เยาวชนมีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ และรักธรรมชาติรักสิ่งแวดล้อม

4. งานด้านสิ่งแวดล้อม

เครือไทยออยล์ ได้จัดโครงการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมน้อมเกล้าถวายราชินีและโครงการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมน้อมเกล้าถวายองค์ราชัน เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชนีนาถและวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นประจำทุกปี ด้วยการทำความสะอาดพื้นที่ชายหาดบ้านอ่าวอุดมและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเลโดยปล่อยลูกปู จำนวน 9,999,999 ตัว เป็นประจำทุกปี
5. งานศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม

เครือไทยออยล์ ได้จัดกิจกรรมตามวันสำคัญทางศาสนาและประเพณีต่างๆ ของชุมชนรอบโรงกลั่น โดยมุ่งเน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมปรึกษา ร่วมวางแผน ร่วมทำระหว่างบริษัทฯ และคณะกรรมการชุมชน อาทิ โครงการสวดมนต์เย็นชำระใจและนั่งสมาธิ ซึ่งจัดทุกวันขึ้น 14 ค่ำของทุกเดือน ณ หอพระในศูนย์สุขภาพและการเรียนรู้ฯ อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรัตนมงคลสกลประชานาถมุนี โครงการหล่อเทียนพรรษา / โครงการถวายเทียนพรรษา 9 วัด ในพื้นที่แหลมฉบัง การเข้าร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ ในเครือข่ายชุมชนรอบโรงกลั่นและพื้นที่แหลมฉบัง รวมทั้งสนับสนุนการจัดกิจกรรมรำวงของชมรมอนุรักษ์รำวงพื้นบ้านแหลมฉบัง เพื่อสืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่คู่ชุมชนต่อเนื่องสืบไป
6. งานการสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม

 

 
เครือไทยออยล์ ริเริ่มหลัก 3 ประสาน (Principle of Tripartite) หรือ อ่าวอุดมโมเดล เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือที่ดีระหว่างเครือไทยออยล์ ชุมชน และส่วนราชการท้องถิ่น โดยตัวแทนจาก 3 ภาคส่วน อันประกอบด้วยเครือข่าย 10 ชุมชนรอบโรงกลั่น เทศบาลนครแหลมฉบัง และ เครือไทยออยล์ จะมีการประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน เพื่อการมีส่วนร่วมของไตรภาคีในการพิจารณาแนวทางการพัฒนาชุมชน ตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากประสบการณ์และองค์ความรู้ของเครือไทยออยล์แล้ว เครือไทยออยล์ยังได้รับการสนับสนุนความร่วมมือและองค์ความรู้ในหลากหลายแขนงจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยให้งานด้านต่างๆสำเร็จผลตามเป้าหมายที่เป็นประโยชน์สุขต่อชุมชนอย่างแท้จริง

 

หลัก 3 ประสาน หรือ อ่าวอุดมโมเดล

นอกจากนี้ เครือไทยออยล์ยังให้ความสำคัญกับ “ผู้นำชุมชน” ซึ่งเปรียบเสมือนผู้นำทางความคิดและผู้เชื่อมประสานระหว่างชุมชนกับโรงกลั่น จึงได้จัด โครงการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการชุมชน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความรู้และทักษะให้กับผู้นำชุมชน เพื่อให้สามารถใช้ความรู้และทักษะที่ได้รับไปใช้ในการสร้างสรรค์ ต่อยอดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนต่อไป โดยการพัฒนาศักยภาพดังกล่าวจะจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเน้นการให้ความรู้และทักษะที่แตกต่างกัน ไป เช่น ทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะการพูดในที่สาธารณะ การทำงานเป็นทีม การทัศนศึกษาดูงาน รวมทั้งการทำงานร่วมกันแบบ 3 ประสานอันได้แก่เครือข่าย 10 ชุมชนรอบโรงกลั่น เทศบาลนครแหลมฉบัง และ เครือไทยออยล์ ด้วยหลักการ 5 ร่วมอันได้แก่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมรับผล ร่วมพัฒนา อย่างต่อเนื่อง เป็นการเพิ่มทักษะท่ามกลางการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันยั่งยืนของชุมชน – โรงกลั่นบนพื้นฐานของความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

เครือข่ายชุมชนรอบเครือไทยออยล์

7. งานประชาสัมพันธ์

 

 
 
จุลสาร “ชุมชนของเรา” จัดพิมพ์ราย 2 เดือน เพื่อสื่อสารสาระความรู้ รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการกิจกรรมต่างๆ ของเครือไทยออยล์ ชุมชน และหน่วยงานทุกภาคส่วน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชนร่วมแบ่งปันสาระความรู้ การบอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่นหรือเกร็ดความรู้ต่างๆ เพื่อชุมชน อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีต่อกัน