เศรษฐกิจหมุนเวียน

เศรษฐกิจหมุนเวียน

ความท้าทาย ความเสี่ยง และผลกระทบ

ท่ามกลางสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อหลายปัจจัย ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของแหล่งน้ำดิบ แหล่งพลังงาน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ตลอดจนปริมาณกากของเสียที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากหน่วยกลั่นใหม่ของโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ที่จะทำการ Commissioning และ Start up ในอนาคต จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญที่กลุ่มไทยออยล์ต้องบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเสถียรภาพของการเติบโตของธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และรวมไปถึงการแสวงหาโอกาสในการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) มาต่อยอดพัฒนากากของเสียหรือวัสดุเหลือทิ้งให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ผ่านการวิจัยพัฒนาและความร่วมมือกับภาคธุรกิจและภาคสังคม

ความมุ่งมั่น และเป้าหมาย 

กลุ่มไทยออยล์มุ่งมั่นยกระดับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนของกลุ่มไทยออยล์ ในการบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการของเสียและการนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตามมาตรฐานสากล BS 8001:2017 เข้ามาบูรณาการในการจัดทำกลยุทธ์ความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนสร้างเครือข่ายกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน ชุมชนและสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ สร้างความตระหนัก สร้างโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างคุณค่าจากผลการดำเนินงานของกลุ่มไทยออยล์คืนสู่สังคม 

เป้าหมาย

  • ตัวชี้วัด
  • หน่วย
  • เป้าหมาย
  • ปี 2566
  • เป้าหมายระยะยาว
  • ปี 2573 
  • การลดปริมาณน้ำที่นำมาใช้ทั้งหมด 
  • ล้านลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
  • 103
  •  
  • ปริมาณการฝังกลบของเสีย 
  • ร้อยละ
  • 0
  • 0
  • การกำจัดของเสียด้วยวิธีการ 3Rs 
  • ร้อยละ
  • 100
  • 100
  • ระดับประสิทธิภาพด้านพลังงานของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)(1) 
  • Quartile
  • 2nd Quartile
  • 1st Quartile
  • ตั้งแต่ปี 2570
  • สัดส่วนการจัดซื้อสินค้าในหมวดวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องใช้สำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • ร้อยละของยอดซื้อสินค้าในหมวดสำนักงานทั้งหมด 
  • 95
  • 98

หมายเหตุ: (1) เทียบกับการจัดอันดับประสิทธิภาพด้านพลังงานจากรายงานผลการเทียบสมรรถนะ (Solomon Benchmarking) ของธุรกิจการกลั่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

แนวทางการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงาน

แนวทางการบริหารจัดการ

กลุ่มไทยออยล์กำหนดกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนของกลุ่มไทยออยล์ “Thaioil CE WE GO” และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนแผนงานและดำเนินงานสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่การวางกรอบ (Framing) กำหนดขอบข่าย (Scoping) การสร้างแนวคิด (Idea Generation) การศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility) ตลอดจนการดำเนินโครงการ (Implementation) การติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน (Monitoring and Report) เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มไทยออยล์ ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุดและสามารถควบคุมและลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจต่อระบบนิเวศและสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีการรายงานผลการดำเนินในด้านต่างๆ ต่อผู้บริหารและผู้มีส่วนได้เสียเป็นประจำ ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานที่สำคัญ 4 ด้าน ดังนี้

W: Water and Wastewater Management

การจัดการน้ำดิบ

การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการเป็นหนึ่งในกรอบการทำงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยบูรณาการร่วมกับหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, and Recycle) ที่ครอบคลุมทุกมิติของการใช้น้ำของกลุ่มไทยออยล์ โดยมีคณะทำงานจัดหาน้ำสำหรับกระบวนการผลิตในระยะยาว ทำหน้าที่เฝ้าติดตาม ประเมินสถานการณ์ กำหนดกลยุทธ์และแผนงานในการจัดหาแหล่งน้ำและปริมาณการใช้น้ำที่เพียงพอและมีความมั่นคงในระยะยาว สำหรับกระบวนการผลิตในปัจจุบัน และโครงการขยายในอนาคต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึงการลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์ขาดแคลนน้ำทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

การจัดการน้ำเสีย

กลุ่มไทยออยล์ควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งให้ดีกว่าข้อกำหนดทางกฎหมาย ก่อนระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วออกสู่ภายนอกโรงงาน โดยเริ่มจากการจัดการลดการใช้น้ำตั้งแต่ต้นทาง ส่งผลให้สามารถลดปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์ได้ออกแบบระบบการจัดการน้ำเสียที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้มีการออกแบบและแบ่งประเภทน้ำเสียออกเป็น 3 ประเภท เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน เนื่องจากน้ำเสียแต่ละชนิดมีปริมาณการปนเปื้อนที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • • ประเภทที่ 1: น้ำเสียจากกระบวนการผลิต (Process Effluent)
  • • ประเภทที่ 2: น้ำหลากชนิด COC (Continuously Oil Contaminated Water) หรือ น้ำล้างหรือน้ำฝนที่ตกลงบริเวณพื้นที่หน่วยการผลิต
  • • ประเภทที่ 3: น้ำหลากชนิด AOC (Accidentally Oil Contaminated Water) หรือ น้ำฝนที่ตกในพื้นที่กลุ่มไทยออยล์ หรือน้ำล้างที่ไม่มีน้ำมันหกรั่วไหล น้ำจากการซ้อมดับเพลิง น้ำจากหอหล่อเย็น น้ำจากหม้อไอน้ำ เป็นต้น

น้ำเสียแต่ละประเภทถูกส่งมาบำบัดที่ระบบบำบัดน้ำเสียกลุ่มไทยออยล์ที่มีการเดินระบบและติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีการรายงานค่า Chemical Oxygen Demand Online (COD Online) ต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมแบบเป็นปัจจุบัน (Real Time) อีกทั้งยังมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งโดยห้องปฏิบัติการทดสอบของกลุ่มไทยออยล์ และตรวจสอบโดยผู้ไม่มีส่วนได้เสียภายนอก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณภาพของน้ำหลังผ่านกระบวนการบำบัดมีคุณภาพที่ดีกว่าค่ามาตรฐานกำหนด ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในการดูแลระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อเพิ่มความสามารถในการดูแลและบริหารจัดการน้ำทิ้งให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ยังสามารถควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งได้ดีกว่าที่กฎหมายกำหนด

  1. โครงการที่โดดเด่น
  2. ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
  • 1. โครงการการบริหารจัดการน้ำ 3Rs ในกระบวนการผลิต (3Rs in Process) เช่น
    • • โครงการลดการใช้น้ำที่หน่วยการผลิต U-2230 (APU-C)
    • • โครงการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ที่โรงไฟฟ้า TOPSPP (TOP SPP water recovery)
    • • โครงการลดความถี่ในการล้างยอน (Backwash) ของตัวกรอง “Side Stream Filter” ของหอหล่อเย็นหน่วย Q-4707 และ Q-85010
    • • โครงการซ่อมแซมท่อที่ชำรุดรั่วไหล
    • • โครงการปรับเปลี่ยนการเดินระบบหน่วยกำจัดไฮโดรเจนซัลไฟด์และคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากน้ำเสียจากหน่วยกลั่นไอน้ำ (Sour Water Stripper) ที่ 2 เป็นหน่วยที่ 5 ที่สามารถนำกลับไอน้ำหรือ Condensate มาใช้ใหม่ (Swop SWS-2 to SWS-5 (APU-C) to save LP steam)
    • • โครงการนำน้ำล้างย้อน (Backwash) ของหน่วยกรอง “Filtration Package” มาใช้ประโยชน์ใหม่
    • • โครงการ “เจอ จด แจ้ง จบ” เป็นการรณรงค์การใช้ทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่า รวมทั้งตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์เพื่อป้องกันการรั่วไหลอย่างต่อเนื่องผ่านการตรวจสอบอุปกรณ์ เน้นการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างความตระหนักในการลดการสูญเสียน้ำ ทั้งในส่วนกระบวนการผลิตและอาคารสำนักงาน เมื่อเจอการรั่วไหลจากการสำรวจพื้นที่และตรวจสอบการรั่วซึมของอุปกรณ์ จดปริมาณรั่วไหล แจ้งผ่านระบบ SAP เพื่อซ่อมแซม และจบการซ่อมให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งข้อมูลเข้าระบบ เพื่อรวบรวมและประเมินผลการดำเนินงาน จากการดำเนินโครงการพบว่ามีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการฯ รวม 60 รายการ สามารถลดการสูญเสียน้ำได้ถึง 7,700 ลิตรต่อชั่วโมง บริษัทฯ ได้มีการมอบรางวัลเพื่อแสดงความชื่นชมและขอบคุณการเข้าร่วมโครงการในงาน QSHE Day 

      

โครงการ “เจอ จด แจ้ง จบ” 

  • 2. โครงการการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน เช่น
    • • โครงการติดตั้งระบบรีเวอร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) ของ TOP SPP เพื่อกรองน้ำ Blowdown เป็นน้ำจืด (TOP SPP Blowdown RO)
    • • การเดินเครื่องระบบกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด (Desalination Unit) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำจากทรัพยากรหมุนเวียนหรือน้ำทะเลทดแทนการใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
  • 3. โครงการพัฒนาระบบแสดงผลการติดตามสถานการณ์และปริมาณการใช้น้ำ (Water Dashboard) เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของกลุ่มไทยออยล์มีประสิทธิภาพสูงสุดและทันท่วงทีกรณีสถานการณ์น้ำเปลี่ยนแปลง

ผลการดำเนินงานปี 2566

  1. E: Energy Conservation

  2.  
  3. การจัดการพลังงาน
  4. กลุ่มไทยออยล์ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านพลังงานโดยการกำหนดให้ดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Intensity Index: EII) เป็นตัวชี้วัดขององค์กร (Corporate KPI) พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะทำงานด้านการจัดการพลังงานและลดการสูญเสียน้ำมัน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทั้งนี้ ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ใช้พลังงานประมาณ 49.76 กิกะจูล ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.11 เทียบกับปริมาณการใช้พลังงานในปีก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการพลังงานประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม กลุ่มไทยออยล์ยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่กำลังการผลิตในระดับต่างๆ โดยในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์มีจำนวนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งสิ้น 23 โครงการ ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานได้ 464,839 กิกะจูล ซึ่งการลดการใช้พลังงานนี้เทียบเท่า 28,003 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดได้ประมาณ 215 ล้านบาท
  5.  
  6. โครงการที่โดดเด่น
  7. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดำเนินการในปี 2566 ได้แก่
  • 1. การพิจารณาประสิทธิภาพการผลิตระหว่างหน่วยผลิตไฮโดรเจนที่ 1 และ 2 (Hydrogen Manufacturing Unit - 1/2) เพื่อพิจารณาเดินหน่วยผลิตไฮโดรเจนเพียงหนึ่งหน่วยในช่วงที่ความต้องการไฮโดรเจนลดต่ำลงเนื่องจากกำลังการผลิตโดยรวมลดลง หรือ ปริมาณไฮโดรเจนที่ผลิตได้จากหน่วยเพิ่มค่าออกเทนด้วยสารเร่งปฏิกิริยาที่ 1 และ 2 (Continuous Catalyst Regeneration Platformer Unit - 1/2) เพิ่มขึ้น แทนการเดินหน่วยผลิตไฮโดรเจนพร้อมกันทั้งสองหน่วย โดยทำการพิจารณาเปรียบเทียบประสิทธิภาพและข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตไฮโดรเจนให้เพียงพอต่อความต้องการโดยใช้พลังงานและต้นทุนต่ำสุด
  • 2. การปรับตัวแปรควบคุมในเตาเผาให้ความร้อนและปรับปรุงประสิทธิภาพของเตาเผาให้ความร้อนของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เช่น
    • • การลดปริมาณอากาศส่วนเกินที่เตาเผาของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 2 (Crude Distillation Unit 2) หน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินที่ 2 (Hydrotreater Unit 2) หน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลที่ 3 (Hydrosulfurization Unit 3) และหน่วยแตกโมเลกุลด้วยสารเร่งปฏิกิริยาโดยใช้ไฮโดรเจนร่วมที่ 2 (Hydrocracking Unit 2) ส่งผลให้ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ในเตาเผาลดลง
    • • การปรับปรุงประสิทธิภาพของเตาให้ความร้อนของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 2 (Crude Distillation Unit 2) โดยการปรับปรุงผนังภายในเตาให้มีความร้อนสูญเสียลดลง
  • 3. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของหน่วยผลิตในช่วงที่ทำการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ของบริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน) เช่น
  • • การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนและเตาให้ความร้อนของหน่วยกลั่นสุญญากาศ (Vacuum Distillation Unit) และหน่วยแยกแอสฟัลท์ (Propane Deasphalting Unit) โดยการล้างอุปกรณ์ ส่งผลให้ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ในเตาเผาลดลง
  • • การซ่อมแซมผนังของเตาเผาเพื่อลดค่าสูญเสียความร้อนที่เตาเผาของหน่วยกลั่นสุญญากาศ (Vacuum Distillation Unit)
  • • การพิจารณาเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อลดการใช้พลังงานของหน่วยลดปริมาณกำมะถันและฟอกสี (Hydrogen Finishing Unit)
  • 4. การปรับตัวแปรควบคุมในกระบวนการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมของหน่วยผลิตสารพาราไซลีน (Paraxylene Unit) โดยที่ยังสามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามข้อกำหนด เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง
  • 5. การพิจารณาปรับเพิ่มขีดจำกัดด้านสูงของความดันเตาเพื่อลดปริมาณอากาศส่วนเกินที่เข้าเตาเผาของหน่วยเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุล Raffinate (Isomar Unit) ส่งผลให้ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ในเตาเผาลดลง
  • 6. การปรับลดการใช้เชื้อเพลิงของหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันไฮโดรคาร์บอน (Unionfining Unit) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยการพิจารณาค่อยๆ ปรับลดปริมาณเชื้อเพลิงส่วนเกิน ในขณะที่ยังสามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงลงได้
  • 7. การปรับเพิ่มอุณหภูมิของสารคายซับ (Desorbent) ที่ขาออกของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบพัดลมของหน่วยแยกพาราฟิน (Molex Unit) เพื่อลดการสูญเสียความร้อนไปกับอากาศ ส่งผลให้สามารถลดการใช้พลังงานในการเพิ่มอุณหภูมิของสารคายซับก่อนเข้าหอดูดซับลงได้

โครงการที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้สูงสุดในปี 2566 สองอันดับแรก ได้แก่ การพิจารณาประสิทธิภาพการผลิตระหว่างหน่วยผลิตไฮโดรเจนที่ 1 และ 2 (Hydrogen Manufacturing Unit – 1/2) เพื่อพิจารณาเดินหน่วยผลิตไฮโดรเจนเพียงหนึ่งหน่วยในช่วงที่ความต้องการไฮโดรเจนลดต่ำลงเนื่องจากกำลังการผลิตโดยรวมลดลง หรือ ปริมาณไฮโดรเจนที่ผลิตได้จากหน่วยเพิ่มค่าออกเทนด้วยสารเร่งปฏิกิริยาที่ 1 และ 2 (Continuous Catalyst Regeneration Platformer Unit - 1/2) เพิ่มขึ้น แทนการเดินหน่วยผลิตไฮโดรเจนพร้อมกันทั้งสองหน่วย และอีกโครงการหนึ่ง คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนและเตาให้ความร้อนของหน่วยกลั่นสุญญากาศ (Vacuum Distillation Unit) โดยการล้างอุปกรณ์ ส่งผลให้ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ในเตาเผาลดลง ทั้งสองโครงการสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 244,639 กิกะจูล คิดเป็น ร้อยละ 52.6 ของพลังงานทั้ง หมดที่ประหยัดได้ หรือเทียบเท่า 14,838 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์ยังมีโครงการอนุรักษ์พลังงานในสถานที่ทำงาน โดยสนับสนุนและรณรงค์ให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน ผ่านทางกิจกรรมและช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่น การประกวดส่งเสริมให้พนักงานเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การเผยแพร่บทความหรือข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงานในคอลัมน์ Energy and Loss ของวารสารอัคนีประจำเดือนของบริษัทฯ การติดประกาศรณรงค์การประหยัดพลังงาน เกร็ดความรู้การอนุรักษ์พลังงานตามพื้นที่สาธารณะในสำนักงาน เป็นต้น

โครงการกิจกรรมส่งเสริมให้พนักงานร่วมประกวดความคิดสร้างสรรค์ในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในบริษัทฯ

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้นำเสนอโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้ดำเนินการในปี 2565 จำนวน 3 โครงการ ไปเข้าร่วม “โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS)” ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และได้รับใบประกาศเกียรติคุณการลดก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 639.308 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ใบประกาศเกียรติคุณโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก

ผลการดำเนินงานปี 2566

ปี 2566 กลุ่มไทยออยล์มีภาพรวมกำลังการผลิตที่ดีขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่มีเสถียรภาพ ความต้องการการใช้พลังงานภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ตลอดจนประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงกลั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด (TOP SPP expansion project) ที่สามารถเริ่มดำเนินการ (Commissioning) ได้ตามแผน ส่งผลให้สามารถรักษาความั่นคงในการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับกลุ่มไทยออยล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จึงทำให้ผลการดำเนินงานด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด มีค่าดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีกว่าค่าเป้าหมายที่วางแผนไว้ ในขณะที่ บริษัท ลาบิกซ์ จำกัด ก็ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้อย่างต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างไรก็ตาม บริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน) แม้จะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ค่าดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงานกลับแย่กว่าค่าเป้าหมาย โดยสาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางด้านกำลังการผลิตที่ต่ำกว่าแผน เนื่องจากกลุ่มไทยออยล์มีการจัดการแผนการผลิตภายในกลุ่มไทยออยล์ตามความต้องการของตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าของไฮโดรคาร์บอนอย่างสูงที่สุด เป็นผลให้สัดส่วนการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สัดส่วนการผลิตน้ำมันหล่อลื่นลดลง เนื่องจากความต้องการของตลาดน้ำมันหล่อลื่นค่อนข้างซบเซา

จากรายงานผลการเทียบสมรรถนะ (Solomon Benchmarking) ประสิทธิภาพด้านพลังงานปี 2565 พบว่า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มีระดับประสิทธิภาพด้านพลังงาน (Energy Efficiency) ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพด้านพลังงานปี 2563 อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประสิทธิภาพด้านพลังงานปี 2565 จัดอยู่ในกลุ่ม 3rd Quartile ซึ่งตกอันดับมาจากปี 2563 (2nd Quartile) ทั้งนี้เนื่องมาจากผู้เข้าร่วมการเทียบสมรรถนะที่มีจำนวนน้อยลงจากการปิดตัวของโรงกลั่นหรือไม่เข้าร่วมการเปรียบเทียบสมรรถนะ มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยรวมดีขึ้นทำให้การแบ่งกลุ่มประสิทธิภาพสมรรถนะมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น แม้ว่าผลประสิทธิภาพการใช้พลังงานของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2565 จะปรับดีขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม เมื่อหน่วยผลิตใหม่ทั้งหมดของโครงการ CFP ดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภาพรวมการใช้พลังงานจะลดลงและประสิทธิภาพด้านพลังงานจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากหน่วยผลิตใหม่ของโครงการ CFP มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่ดีกว่าหน่วยผลิตในปัจจุบัน ในส่วนของบริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด ยังคงรักษามาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานอยู่ในกลุ่ม 1st Third และ 2nd Quartile ได้ตามลำดับ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆที่ร่วมรายงานสมรรถนะ (Solomon Benchmarking)

สำหรับ บริษัท ลาบิกซ์ จำกัด มีการดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างโดดเด่นและประสบผลสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ ส่งผลให้ค่าดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสามารถบรรลุตามเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพด้านพลังงานดีขึ้น ต่อเนื่องในทุกๆ ปี

  • G: Green Label Focus

  •  
  • การส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อหรือผลักดันสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด จากความใส่ใจในการลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ กลุ่มไทยออยล์เล็งเห็นความสำคัญและปรับตัวสู่การบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม (Green Label Focus) ที่ครอบคลุมการผลิต การใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดซื้อจัดจ้างและงานบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะทำงานเพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

กลุ่มไทยออยล์ได้บริหารจัดการ การจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริการ เพื่อเลือกใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์ งานบริการ ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการเกิดของเสียตั้งแต่ต้นทางและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 กลุ่มไทยออยล์ได้รับการรับรองมาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ISO 20400:2017 ที่นำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในทุกกลุ่มสินค้าและงานบริการ (Non-Crude Procurement) และมีการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานผ่านการปรับปรุงนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนของกลุ่มไทยออยล์ รวมไปถึงการสื่อสารไปยังคู่ค้าให้มีความพร้อมผ่านงานสัมมนาคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ประจำปี

  • โครงการที่โดดเด่น
  •  
  • ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างกลุ่มไทยออยล์ และหน่วยงานจัดหาของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ร่วมกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) โดยปี 2566 ได้ริเริ่มจัดทำโครงการส่งเสริมคู่ค้าเพื่อขอการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) สำหรับคู่ค้าที่มีความสำคัญกับกลุ่มไทยออยล์เป็นปีแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจร่วมกันในระยะยาว ซึ่งโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วยการให้ความรู้ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และการให้คำแนะนำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปสู่การยื่นขอการรับรองในระบบอุตสาหกรรมสีเขียวของคู่ค้า ทั้งนี้ คู่ค้าของกลุ่มไทยออยล์เข้าร่วมทั้งหมด 18 บริษัท และมีจำนวน 3 บริษัทที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยคู่ค้าทั้ง 3 บริษัทนี้ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 2 ซึ่งมากกว่าที่คาดหวังอีกด้วย
  1.  
  • ผลการดำเนินงานปี 2566
  •  
  • สำหรับการจัดซื้อสินค้าในหมวดวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องใช้สำนักงาน มีการพิจารณาการซื้อพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Products) ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้คู่ค้ามีการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินการซื้อพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคิดเป็นร้อยละ 98 ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ (ร้อยละ 95) ของค่าใช้จ่ายในหมวดนี้ และเมื่อเทียบกับปี 2565 มีรายการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยค่าใช้จ่ายรวมของปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ กลุ่มไทยออยล์จึงสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (GHG Scope 3) ได้ถึง 1,586.47 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

O: Opportunities for Upcycling

การจัดการของเสียอุตสาหกรรม

การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หาโอกาสในการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดของเสียที่ต้องส่งกำจัดน้อยที่สุด ถือเป็นสิ่งที่กลุ่มไทยออยล์ยึดมั่นในการบริหารจัดการของเสีย เพื่อผลักดันการดำเนินงานสู่เป้าหมายการกำจัดของเสียด้วยวิธี 3Rs ร้อยละ 100 ในปี 2566 และการนำของเสียไปฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 กลุ่มไทยออยล์ได้นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนและ 3Rs มาใช้ในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีคณะทำงานการบริหารจัดการกากของเสียและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste Management Committee) ผลักดันและกำกับดูแลการบริหารจัดการให้บรรลุเป้าหมาย

โครงการที่โดดเด่น

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

  • 1. CE in Process (Circularity in Process): ควบคุมและจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ (Operational Excellence) เพื่อลดกากของเสียในกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด สำหรับกากของเสียที่เกิดขึ้นแล้วกลุ่มไทยออยล์ยึดหลัก 3Rs มาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าของกากของเสียให้ได้มากที่สุด เช่น
    • • การเพิ่มมูลค่า Spent Catalyst ได้แก่ HCU 2 Spent Catalyst ประมาณ 198 ตัน และ HDS-3 Spent Catalyst ประมาณ 140 ตัน โดยนำไปสกัดโลหะโมลิบดีนัม (Molybdenum Reclaim) และทังสเตน (Tungsten Reclaim) ทดแทนการเผาทำลายหรือฝังกลบ ซึ่งมีมูลค่าที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป
    • • การนำพาเลทไม้ที่ผ่านการใช้งานในกระบวนการผลิตซึ่งไม่ปนเปื้อนและมีสภาพที่ดีมา Upcycling เป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น ชั้นวางของ ชุดโซฟาไม้ โต๊ะและถังขยะ เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จะนำกลับมาใช้ภายในองค์กร

  • 2. CE in Office (Circularity in Office):  การศึกษาแนวทางการรีไซเคิล และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าการจัดการของเสียสำนักงานและโรงอาหาร เช่น 
    • • โครงการกลุ่มไทยออยล์ไม่มีขยะ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่พนักงานและผู้รับเหมา ในการคัดแยกและจัดการขยะของเสียอย่างถูกต้องอย่างต่อเนื่อง
    • • โครงการเพิ่มมูลค่าขวดพลาสติก (Upcycling Plastic Waste) โดยนำขวดพลาสติกจากขยะรีไซเคิลมาสร้างมูลค่าด้วยการ Upcycling เป็นเสื้อ QSHE เพื่อแจกให้พนักงานและผู้รับเหมา
    • • โครงการนำกากกาแฟจากร้านกาแฟอัคนีมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ กระถางต้นไม้ ของตกแต่งบ้าน และวัสดุสำหรับเพาะเห็ด (ก้อนเห็ด) เพื่อแจกให้แก่พนักงาน ผู้รับเหมา

  • 3. CE for Society (Circularity for Society)เพิ่มข้อมูลค่าของเสียเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับชุมชนและให้ความรู้ ผ่านโครงการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น
    • • โครงการแจกผลิตภัณฑ์จากการดำเนินงานเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ปุ๋ยที่ผลิตจากเศษอาหารเพื่อใช้กับต้นไม้ ในกิจกรรมต่างๆ ที่ไทยออยล์ได้ร่วมกับชุมชน เช่น งานปีใหม่ งานวันเด็ก และงานกฐินประจำปี 2566
    • • โครงการไทยออยล์สร้างเยาวชนรักษ์โลก (Thaioil CE School Model) เพื่อสร้างองค์ความรู้และความตระหนักให้เยาวชนในเรื่องกระบวนการจัดการของเสียตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ได้แก่ การจัดการขยะ กระบวนการหมักปุ๋ย แนวทางการรีไซเคิลน้ำมันที่ใช้แล้ว รวมถึงการทำบัญชีเบื้องต้น โดยมีโรงเรียนในพื้นที่แหลมฉบัง 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดแหลมฉบัง โรงเรียนวัดมโนรม โรงเรียนวัดใหม่เนินพยอมและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลนครแหลมฉบัง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้ความรู้ในการทำสบู่จากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วและกากกาแฟ ที่โรงเรียนวัดแหลมฉบัง ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566

ผลการดำเนินงานปี 2566

Update : กุมภาพันธ์ 2567