การบริหารจัดการสายโซ่อุปทาน

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

ความท้าทาย ความเสี่ยง และผลกระทบ

การจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่มไทยออยล์ได้ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน เนื่องจากต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างกับคู่ค้าจำนวนมากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้การดำเนินงานต้องพิจารณาถึงโอกาสและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้เสียและมอบผลตอบแทนที่ยั่งยืน นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างจึงมีการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ ของกลุ่มงานสินค้าและบริการทั้งหมดเป็นประจำสม่ำเสมอ อาทิเช่น ความเสี่ยงด้านอุปทาน (Supply Risks) ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (Sustainability Risks) เป็นต้น ทำให้สามารถทราบความเสี่ยงและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น โดยประเด็นความท้าทายที่พบ ได้แก่

  • • มีคู่ค้าน้อยรายในกลุ่มงานที่มีความเสี่ยงด้านอุปทานสูง ซึ่งอาจส่งผลให้มีคู่ค้าไม่เพียงพอในงานประกวดราคาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ต้องใช้เวลาในการจัดหาคู่ค้ารายใหม่ แนวทางในการดำเนินการจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย เพื่อจะได้วางกลยุทธ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น หน่วยงานผู้ใช้งาน เพื่อหามาตรการป้องกันแก้ไขร่วมกัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ
  • • มีคู่ค้าที่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อบริษัทฯ จึงจำเป็นต้องดำเนินการปิดประเด็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของคู่ค้าให้เรียบร้อยก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากนี้ หากตรวจพบในภายหลังและอยู่ในระหว่างการดำเนินงานตามสัญญา บริษัทฯ จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับคู่ค้า หากพบว่ามีประเด็นจริง จะขอให้คู่ค้าแก้ไขประเด็นที่ตรวจพบทันที โดยกำหนดแผนงานและระยะเวลาที่ชัดเจน 

นอกจากนี้ ในการดำเนินการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง มีความเป็นไปได้ที่คู่ค้าอาจร้องเรียนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทฯ มีช่องทางการร้องเรียนที่ชัดเจนให้แก่คู่ค้า ประกาศอยู่บน Thaioil Website และมีการกํากับดูแลผ่านกระบวนการตรวจสอบภายในเพื่อแสดงความโปร่งใสในการดําเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม

ความมุ่งมั่น และเป้าหมาย

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนตามกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืนของกลุ่มไทยออยล์ ซึ่งคำนึงถึงการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ (Economic) สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจตามหลักการงานจัดซื้อจัดจ้างคือ ความโปร่งใส (Clear) เป็นธรรม (Fair) อย่างมืออาชีพ (Professional) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งครอบคลุมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามหลักการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (ISO 20400 : Sustainable Procurement) ช่วยลดโอกาสของการหยุดชะงักทางธุรกิจและการดำเนินงานที่ล่าช้า อันเนื่องมาจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด อีกทั้งยังเป็นการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สร้างประโยชน์ในระยะยาวสำหรับกลุ่มไทยออยล์และคู่ค้า และส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสีย จึงได้กำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับดัชนีวัดประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร ดังนี้

เป้าหมาย

ตัวชี้วัด หน่วย เป้าหมายปี 2566 เป้าหมายระยะยาวปี 2569
การตอบรับ SCOC คู่ค้าเชิงกลยุทธ์ (Strategic Supplier หรือ Significant Supplier) ที่ตอบรับ SCOC % 100 100
คู่ค้าหลัก (Key Supplier) ที่ตอบรับ SCOC % 82.5 90
คู่ค้ารายใหม่ที่ผ่านการขึ้นทะเบียน ตอบรับ SCOC  % 100 100
การประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ข้อร้องเรียนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโครงการที่สำคัญของบริษัทฯ ที่พบว่าเป็นจริง ซึ่งมีการกำกับดูแลผ่านกระบวนการตรวจสอบภายใน เพื่อแสดงความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม กรณี 0 0
คู่ค้าเชิงกลยุทธ์ต้องได้รับการเข้าตรวจประเมินความเสี่ยงด้าน ESG % 85 100
การมีส่วนร่วมและความพึงพอใจของคู่ค้า ความพึงพอใจโดยรวมของคู่ค้าต่อไทยออยล์ % มากกว่า 90 95

แนวทางการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงาน

1. แนวทางการบริหารจัดการคู่ค้ากลุ่ม Non-hydrocarbon

เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน กลุ่มไทยออยล์ได้กำหนดทิศทางกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านงานจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ปี 2565-2569 ดังนี้

ทิศทางกลยุทธ์สู่ความเป็นเลิศด้านงานจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2565-2569

กลยุทธ์การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 2 แกนหลัก ภายใต้หลักการ “ถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม” และเพื่อให้กลยุทธ์ประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ จึงนำ 4Ps (People, Patronage, Platform, Partnership) มาเป็นกลไกขับเคลื่อน ซึ่งประกอบด้วย

  • 1. People การจะทำให้นโยบายและกลยุทธ์การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น บุคลากรของหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง ผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กร และคู่ค้า จะได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืน (ESG) ของบริษัทฯ
  • 2. Patronage การส่งมอบคุณค่า เพื่อตอบสนองความต้องการของคู่ค้า 
  • 3. Platform การนำระบบที่น่าเชื่อถือและใช้งานทั่วโลก อาทิเช่น ระบบ SAP Ariba, DocuSign มาใช้ในการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้า เพื่อเพิ่มความถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และตอบโจทย์รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป (Digital Workplace) 
  • 4. Partner การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ และได้กำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (KPI) ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดขององค์กร 

พร้อมสร้างรากฐานการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนภายใต้แนวทาง ESG และนำมาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ISO 20400 มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง อีกทั้ง จัดทำแผนดำเนินงาน 5 ปี เพื่อให้มีกรอบการดำเนินที่ชัดเจน ดังนี้

1. ความเป็นเลิศทางธุรกิจ (Business Excellence) สร้างแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง พร้อมทั้งนำเทคโนโลยี มาใช้ในการทำงานให้สะดวกและมีประสิทธิภาพเพื่อตอบโจทย์การทำงานที่ทันสมัย ได้แก่ 

  • • พัฒนา Procurement One Platform บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงานที่อยู่บนหลายระบบรวมเข้าสู่แพลตฟอร์มเดียวกัน ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลรวดเร็ว คล่องตัวในการทำงาน เพื่อตอบโจทย์การทำงานที่ทันสมัย พร้อมสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้กระดาษนำไปสู่การใช้ทรัพยากรและพลังงานที่ลดลง
  • • พัฒนาแพลตฟอร์มกลยุทธ์กลุ่มงานจัดหาสินค้าและบริการ (Category Development) เพิ่มความแข็งแกร่งโดยดำเนินการผ่าน Procurement Management Review (PMR) ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลดต้นทุนจากการจัดหาสินค้าและบริการ ผ่านการวิเคราะห์ความต้องการใช้สินค้าและบริการในอนาคต ข้อมูลตลาด ความเสี่ยงด้านต่างๆ เช่น ความเสี่ยงด้านอุปทาน (Supply Risks) ด้านความยั่งยืน (Sustainability Risks)  
  1. 2. พันธมิตรทางธุรกิจและความยั่งยืน (Sustainability & Partnership Enrichment) ยกระดับความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับคู่ค้าควบคู่ไปกับงานจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นเลิศและเป็นธรรมอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเพิ่มคุณค่าด้าน ESG และนวัตกรรมร่วมกัน ได้แก่
  • • ยกระดับ ESG (ESG Enhancement) ผ่านความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย เช่น คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อบูรณาการให้ ESG เป็นส่วนหนึ่งของงานจัดซื้อจัดจ้างตลอดทั้งกระบวนการตามมาตรฐาน ISO 20400 พร้อมยกระดับการสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้าผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าด้าน ESG ร่วมกัน เช่น จัดงานสัมมนาคู่ค้าประจำปี
  • • Green Procurement สนับสนุนกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัทฯ “Thaioil CE WE GO” ในส่วน Green Label Focus โดยจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและงานบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้คู่ค้าพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน.
  • • Long-Term Partnerships ส่งเสริมความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อการเติบโตร่วมกันในระยะยาว โดยมุ่งเน้นกลุ่มคู่ค้าเชิงกลยุทธ์ และ ความร่วมมือจัดหาร่วมกันระหว่างบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรอง

ทั้งนี้ การดำเนินงานร่วมกับคู่ค้าและโครงการด้าน ESG ที่สำคัญ ได้รายงานให้แก่ผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทฯ ผ่านคณะกรรมการบริษัทชุดย่อย ได้แก่ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (CG BOD Committee) รับทราบเป็นประจำทุกปี

แนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ 

เพื่อให้คู่ค้าซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียของกลุ่มไทยออยล์ดำเนินงานสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มไทยออยล์ บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นบูรณาการความยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยส่งเสริมให้คู่ค้าดำเนินงานภายใต้แนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ (Sustainable Code of Conduct for Suppliers of Thaioil and Subsidiaries : SCOC) ตั้งแต่ปี 2558 ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ด้านสังคม (Social) และด้านบรรษัทภิบาล (Governance) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ และการเติบโตร่วมกันในระยะยาว โดยคู่ค้ารายใหม่ทุกรายที่ขึ้นทะเบียนผ่านระบบต้องตอบรับ SCOC และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ (SCOC) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และเพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าเข้าใจในแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ กลุ่มไทยออยล์จึงได้มีการสื่อสารแนวทาง SCOC ดังกล่าว ผ่านทาง Website และงานสัมมนาคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ประจำปี 2566

 "Click Here" แนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ 
(Sustainable Code of Conduct for Suppliers of Thaioil and Subsidiaries: SCOC) ฉบับปี 2566

 

ผลการดำเนินงานในปี 2566

กลุ่มไทยออยล์คาดหวังให้คู่ค้าทุกรายตอบรับต่อแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ (Sustainable Code of Conduct for Suppliers of Thaioil Group: SCOC) เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้ามีความเข้าใจถึง SCOC ของกลุ่มไทยออยล์มีการสื่อสารผ่านเว็ปไซต์บริษัทฯ และงานสัมมนาคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์เป็นประจำทุกปี

คู่ค้าของกลุ่มไทยออยล์

กลุ่มไทยออยล์มีกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าผ่านระบบ Ariba ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกคู่ค้าผ่านแบบประเมินคุณสมบัติคู่ค้าเบื้องต้น ทั้งด้านคุณภาพของสินค้าและบริการ สถานะทางการเงินของคู่ค้า รวมไปถึงหลักเกณฑ์ด้านการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล อันได้แก่ ข้อมูลด้านการจัดส่ง การบริหารจัดการด้านความปลอดภัย การยอมรับแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ (SCOC) ผลการตรวจประเมินจากบุคคลภายนอกที่น่าเชื่อถือ (Third Party) เช่น ISO9001, ISO14001, ISO/IEC17025, OHSAS18001, ISO50001 เป็นต้น อีกทั้ง สำหรับคู่ค้าที่มีความเสี่ยงทางด้านบรรษัทภิบาลได้มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการป้องกันการคอร์รัปชันของบริษัทคู่ค้า เช่น คู่ค้าที่ต้องดำเนินการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น

การประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้าหลังจากส่งมอบสินค้าและงานบริการ มีการดำเนินการประเมินผลงานผ่านระบบ ตามความสำคัญของสินค้าและบริการ ซึ่งมีวิธีการประเมินที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ เกณฑ์การประเมินครอบคลุมประเด็นด้านความยั่งยืน ได้แก่ การบริหารจัดการทางด้านความมั่นคง ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัย (Security Safety Health and Environment: SSHE) การบริหารจัดการด้านความยั่งยืน (Environment Social and Governance: ESG) การปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้าและบริการ และการจัดส่งสินค้าอันตราย (Hazardous Goods) เป็นต้น

กลุ่มไทยออยล์จัดการแบ่งกลุ่มประเภทของคู่ค้าทางตรง (Tier-1 Supplier Classification) เพื่อให้มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์ โดยแบ่งได้ 3 กลุ่มดังนี้

  • 1) คู่ค้าเชิงกลยุทธ์ (Strategic/Significant Supplier) เป็นกลุ่มคู่ค้าที่มีศักยภาพและมีความสำคัญต่อบริษัท มีการพัฒนาไปสู่ความร่วมมือและเติบโตร่วมกัน
  • 2) คู่ค้าหลัก (Key Supplier) เป็นกลุ่มคู่ค้าที่ต้องรักษาระดับความสัมพันธ์ระยะยาว เพื่อควบคุมต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ต้องควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย
  • 3) คู่ค้าทั่วไป (Managed Supplier) เป็นกลุ่มคู่ค้าที่บริหารความสัมพันธ์ตามผลการดำเนินงานของคู่ค้า

นอกเหนือจากนี้ ยังมีการจัดกลุ่มคู่ค้าที่จัดหาสินค้าและงานบริการให้กับคู่ค้าของกลุ่มไทยออยล์ (Strategic/ Significant Non Tier-1 Supplier) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าและงานบริการที่มีความสำคัญสูงกับธุรกิจกลุ่มไทยออยล์

การดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงในสายโซ่อุปทาน

• การประเมินความเสี่ยง

กระบวนการบริหารจัดการคู่ค้าของกลุ่มไทยออยล์ (Supplier Lifecycle Management) ดำเนินการตั้งแต่กระบวนการขึ้นทะเบียนคู่ค้า ประเมินคุณสมบัติคู่ค้า การดำเนินงานตามสัญญา ประเมินผลงานคู่ค้า รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงของคู่ค้า โดยติดตามความเสี่ยงของทางคู่ค้า (Supplier Risks) ผ่านฐานข้อมูลจากภายนอก ได้แก่ ความเสี่ยงทางด้านการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมาย (Regulatory & Legal Risks) ความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Financial Risks) ความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance Risks) และความเสี่ยงทางด้านการดำเนินงาน (Operational Risks) เป็นต้น นอกจากนี้  กลุ่มไทยออยล์ดำเนินการคัดกรองคู่ค้า (Supplier Screening) ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงคู่ค้า โดยพิจารณาถึงผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ (Business Relevance) และผลกระทบด้านลบทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)  ซึ่งแบ่งออกเป็นความเสี่ยงตามประเทศ (Country-Specific Risk) ความเสี่ยงตามลักษณะธุรกิจ/อุตสาหกรรม (Sector-Specific Risk) และความเสี่ยงตามกลุ่มสินค้าและบริการ (Commodity-Specific Risk) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่อาจเกิดขึ้นได้ และใช้ในการคัดเลือกคู่ค้าเพื่อเข้าสู่การตรวจประเมินต่อไป (Supplier Assessment)

การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่กลุ่มไทยออยล์ใช้สำหรับการหาโอกาสในการลดต้นทุน บริหารจัดการความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการจัดหาคัดเลือกคู่ค้า ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ ทำให้เห็นภาพรวมของการใช้จ่ายขององค์กรทั้งยังช่วยผลักดันในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพ การปฏิบัติตามสัญญา และการจัดการต้นทุนอีกด้วย

กลุ่มไทยออยล์มีกระบวนการประเมินความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานครอบคลุมคู่ค้าทั้งหมดเป็นประจำทุกปี และมีการประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ อาทิ ความเสี่ยงด้านอุปทาน (Supply Risk) โดยใช้ Porter’s Five Force Model ในการประเมิน และความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (Sustainability Risk) โดยใช้วิธีการประเมินความเสี่ยงตามกลุ่มสินค้าและงานบริการของคู่ค้าแต่ละรายซึ่งครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)  และเป็นไปตาม 7 หัวข้อหลักของแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (ISO20400: Sustainable Procurement)

• การจัดการความเสี่ยง 

การจัดการความเสี่ยงของคู่ค้าในเรื่องการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุในสัญญา การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงตรวจประเมินคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ และมีการตรวจประเมินด้านความยั่งยืนกับคู่ค้าเชิงกลยุทธ์และคู่ค้าที่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนสูง ทั้งในส่วนของระบบบริหารจัดการและการปฏิบัติงานในพื้นที่ พื่อป้องกันการหยุดชะงักทางธุรกิจของคู่ค้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้าน ESG รวมถึงการยกระดับการบริหารจัดการความปลอดภัยของคู่ค้า ให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล มีการตรวจประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยประจำปีของบริษัทคู่ค้า โดยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก (Third Party) หากพบว่าคู่ค้าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด บริษัทฯ จะแจ้งให้คู่ค้านำเสนอแผนงานและปรับปรุงแก้ไข โดยตั้งเป้าหมายให้คู่ค้าต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จร้อยละ 100 ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

ในส่วนการบริหารจัดการสัญญาและการจัดส่งสินค้าได้พิจารณาจากผลกระทบ ผ่านการประเมินความเสี่ยงและติดตามกลุ่มสินค้าที่มีระยะเวลาการผลิตนาน (Long Lead items) การเร่งจัดหาแรงงานเพิ่มเติม หรือขยายระยะเวลาสัญญางานสำคัญเร่งด่วน และเพื่อให้การดำเนินงานระหว่างบริษัทฯ กับคู่ค้าเกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องร่วมกัน จึงมีการวัดผลประสิทธิภาพการทำงานของคู่ค้าผ่านตัวชี้วัดบังคับ (Compulsory KPI) และประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้าหลังจากส่งมอบสินค้าและงานบริการ ทั้งนี้ ตัวชี้วัดบังคับครอบคลุมประเด็นด้านต่างๆ เช่น ด้านคุณภาพ ด้านระยะเวลาส่งมอบ และด้านความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย การบริหารจัดการด้านความมั่นคง ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัย การบริหารจัดการด้านความยั่งยืน (ESG) การปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยวัดผลลัพธ์เป็นคะแนนแต่ละด้านและคำนวณภาพรวมในรูปร้อยละของคะแนนรวม และหลังจบงานเรียบร้อยแล้ว จะจัดประชุมกับคู่ค้าเพื่อหาแนวทางพัฒนาและปรับปรุงร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ ยังนำผลประเมินการปฏิบัติงานเป็นเกณฑ์การให้รางวัลแก่คู่ค้าสำหรับงานที่สำคัญของบริษัทฯ เช่น งานปิดซ่อมบำรุงใหญ่ประจำปี เพื่อช่วยเพิ่มชื่อเสียงให้แก่คู่ค้าอีกด้วย

• การตรวจประเมินคู่ค้า (Supplier Assessment)

กลุ่มไทยออยล์จะดำเนินการตรวจประเมินด้านความยั่งยืนกับคู่ค้าและสนับสนุนให้คู่ค้าได้แสดงถึงศักยภาพการบริหารจัดการด้าน ESG โดยกลุ่มไทยออยล์ได้จัดทำแผนระยะยาวสำหรับการเข้าตรวจประเมินคู่ค้าเชิงกลยุทธ์แบบเชิงรุก ซึ่งเป็นผลมาจากการวิเคราะห์คู่ค้าที่มีความเสี่ยงต่อการดำเนินงาน อันได้แก่ การวิเคราะห์ยอดค่าใช้จ่าย (Spend Analysis) ความสำคัญของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ความเสี่ยงด้านอุปทาน (Supply Risks) ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (Sustainability Risks) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานและบรรลุเป้าหมายการตรวจประเมินคู่ค้าเชิงกลยุทธ์ที่ต้องได้รับการเข้าตรวจประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ให้ครบร้อยละ 100 ภายในปี 2569

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินการตรวจประเมินด้านความยั่งยืนกับคู่ค้า ดังนี้

  • 1) Supplier Desk Assessment โดยดูหลักฐานจากใบรับรองและรายงานการตรวจประเมินจากหน่วยงานอิสระหรือสถาบันรับรองที่น่าเชื่อถือ  (Independent Accredited Auditing Body) ที่เข้าตรวจประเมินคู่ค้า เช่น ISO14001, ISO50001, ISO45001, OHSAS18001, ISO9001, ISO17025, ISO27001, ประเมินโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และการรับรองจากโครงการ CAC โดย Thai Private Sector Collective Action Against Corruption, Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Work Award (CSR-DIW Award) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
  • 2) Supplier On-Site Assessments กลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินการตรวจประเมินด้านความยั่งยืนภาคสนามกับคู่ค้า โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

2.1) 2nd Party Supplier On-site Assessments การตรวจประเมินภาคสนามโดยหน่วยงานภายในของกลุ่มไทยออยล์ เช่น การตรวจประเมินการจัดการของเสีย (Waste Management Audit) ที่บริษัทคู่ค้า โดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มไทยออยล์, การตรวจประเมินด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Security, Safety, Occupational Health, Environment: SSHE) ขณะที่คู่ค้าปฏิบัติงานในพื้นที่กลุ่มไทยออยล์ โดยหน่วยงานด้านความปลอดภัยกลุ่มไทยออยล์ และการตรวจประเมินการดำเนินงานตามสัญญาและข้อกำหนดต่างๆ ขณะที่คู่ค้าปฏิบัติงานในพื้นที่กลุ่มไทยออยล์ โดยหน่วยงานผู้ใช้งาน หน่วยงานปฏิบัติการ และหน่วยงานความปลอดภัย และยิ่งไปกว่านั้น สำหรับงานซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Turn Around : MTA) จะมีผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มไทยออยล์เข้าตรวจประเมินภาคสนามร่วมกับคู่ค้า หรือที่เรียกว่า Management Site Walk เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคู่ค้าที่มีนัยสำคัญได้ปฏิบัติงานสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ (SCOC)

2.2) 3rd Party Supplier On-site Assessments การตรวจประเมินภาคสนามโดยหน่วยงานอิสระหรือสถาบันรับรองที่น่าเชื่อถือ ซึ่งในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ได้ให้สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม (สรอ.) เข้าตรวจประเมินการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนกับคู่ค้าที่มีความเสี่ยงทางด้านความยั่งยืน (ESG) และ/หรือ คู่ค้าที่สำคัญเชิงกลยุทธ์ (Strategic/Significant Supplier) ณ พื้นที่ปฏิบัติงานของคู่ค้า โดยใช้แบบประเมินที่พัฒนามาจากมาตรฐาน ISO20400 แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) 

หลังจากการตรวจประเมินกับคู่ค้าแล้ว หากพบว่าคู่ค้าไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมิน ทางกลุ่มไทยออยล์จะแนะนำแนวทางการแก้ไขและการปรับปรุง (Corrective and Improvement Actions) ให้แก่คู่ค้าทั้งในรูปแบบการประชุมออนไลน์หรือที่บริษัทคู่ค้า (Remote/On-site) พร้อมจัดส่งแบบฟอร์มการบันทึกแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan: CAP) ให้แก่คู่ค้าเพื่อให้คู่ค้าได้ดำเนินการแก้ไขได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งคู้ค่าจะต้องบันทึกข้อบกพร่อง (Non-compliance Issues) สาเหตุของปัญหา (Root Causes) วิธีการแก้ปัญหา (Solid Solutions) และระบุวันที่ที่คาดว่าจะแก้ไขเสร็จสิ้น (Deadline) จากนั้นทางคู่ค้าจะต้องดำเนินการส่ง CAP ให้แก่กลุ่มไทยออยล์ภายในระยะเวลาที่กำหนด และ กลุ่มไทยออยล์จะจัดประชุมกับคู่ค้าเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ (Implementation Progress) พร้อมสนับสนุนให้คำแนะนำแนวทางพัฒนาและปรับปรุงร่วมกันต่อไป ซึ่งจะลดความเสี่ยงด้าน ESG ที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมผลักดันการปฏิบัติงานสู่ความเป็นเลิศ และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางการปฏิบัติของกลุ่มไทยออยล์อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจระหว่างกลุ่มไทยออยล์กับคู่ค้าอีกด้วย 

นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์จะนำข้อมูลของคู่ค้าทั้งหมดที่ได้จากการตรวจประเมินมาเปรียบเทียบกัน (Supplier ESG Benchmark) ในแต่ละด้านของความยั่งยืน และแบ่งปันข้อมูลของคู่ค้าที่มีผลการปฏิบัติงานด้านความยั่งยืนระดับดีเยี่ยมในแต่ละด้านให้แก่คู่ค้ารายอื่น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของคู่ค้าและสนับสนุนผลระดับการปฏิบัติงานของคู่ค้าให้ดีขึ้นต่อไป

ผลการดำเนินงานปี 2566

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์มีผลการดำเนินการตรวจประเมินด้านความยั่งยืนกับคู่ค้า ดังนี้

การยกระดับศักยภาพของคู่ค้าและพนักงานในห่วงโซ่อุปทาน 

• การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของคู่ค้า (Supplier Development and Capacity Building Program)

กลุ่มไทยออยล์มุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับศักยภาพให้แก่คู่ค้าในการบริหารจัดการความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) โดยสื่อสารข้อมูลความรู้และโปรแกรมด้านความยั่งยืน (Supplier ESG Program) รวมถึงกระบวนการงานจัดซื้อจัดจ้างและความต้องการของกลุ่มไทยออยล์ให้แก่คู่ค้าเป็นประจำสม่ำเสมอผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ งานสัมมนาคู่ค้าประจำปี, การฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติ, เว็บไซต์ของไทยออยล์, ESG News ผ่านช่องทาง Facebook ของบริษัทฯ และ SRM Newsletters ผ่านช่องทางอีเมล์ เป็นต้น

ในปี 2566 ได้มีการสื่อสารข้อมูลและจัดโปรแกรมด้านความยั่งยืนให้แก่คู่ค้า อาทิเช่น

งานสัมมนาคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2566 ได้จัดงานในรูปแบบ Hybrid เพื่อสื่อสารวิสัยทัศน์ของกลุ่มไทยออยล์และสถานการณ์ในปัจจุบันตั้งแต่วิสัยทัศน์และทิศทางกลยุทธ์กลุ่มไทยออยล์, แผนงานจัดซื้อจัดจ้างกลุ่มไทยออยล์ ปี 2567, การบริหารจัดการความยั่งยืนกลุ่มไทยออยล์, กลยุทธ์ 3Es (Enhance Clean Environment, Engage Society, Ensure Good Governance) แนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ (Sustainable Code of Conduct for Suppliers of Thaioil Group: SCOC) ตลอดจนความรู้ด้าน ESG ต่างๆ อาทิ ข้อมูลด้านคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (QSHE) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) และการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) และ ESG Best Practices เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อให้คู่ค้ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืน นำความรู้ที่ได้รับในการสัมมนาครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในบริษัทของคู่ค้า และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มไทยออยล์
ศูนย์การเรียนรู้ด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Thaioil Group SSHE Training Center) สำหรับงานที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถและแบ่งปันประสบการณ์การทำงานเชิงลึก ระหว่างกลุ่มไทยออยล์กับคู่ค้า อีกทั้งสนับสนุนด้านความปลอดภัยและการจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงาน ช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานจริง เนื่องจากกลุ่มไทยออยล์กับคู่ค้าได้ทำการฝึกฝนร่วมกัน จนเกิดความรู้ความเข้าใจก่อนลงมือปฏิบัติงานจริงผ่านศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้
Safe White Green Program โปรแกรมการบริหารจัดการด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SSHE) ซึ่งเป็นการยกระดับศักยภาพด้าน SSHE ให้แก่คู่ค้าและมีการติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่องร่วมกันระหว่างกลุ่มไทยออยล์กับคู่ค้า โดยโปรแกรมนี้มีการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 เป็นโปรแกรมการพัฒนาศักยภาพด้านเทคนิคเชิงลึก (In-depth Technical Capacity Development Program) โดยมีกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบผ่าน 5 ขั้นตอน ได้แก่ Coach, Up & Re-Skills, Control, Recognize และ Share

การจัดอบรมคู่ค้าเพื่อขอการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือกับกลุ่มปตท. ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี จะดำเนินการอบรมทั้งภาคทฤษฎีแบบออนไลน์และเชิงปฏิบัติการตลอดทั้งปีให้แก่คู่ค้า โดยสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม (สรอ.) เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้คู่ค้าดำเนินกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การจัดอบรม ISO 20400 แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ให้แก่คู่ค้า โดยสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม (สรอ.) และหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างกลุ่มไทยออยล์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คู่ค้ามีความรู้ความเข้าใจแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล และนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติกับคู่ค้าของคู่ค้า เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
โปรแกรมการอบรมระบบงานจัดซื้อจ้าง (E-procurement Training Program) ได้แก่ SAP Ariba Network สำหรับการขึ้นทะเบียนคู่ค้า การยื่นข้อเสนอ (Online Proposal Submission) และการรับใบสั่งซื้อสั่งจ้าง (Online PO), Contractor Management System (CMS) และ Turnaround Work Progress Program สำหรับการรายงานความคืบหน้าของงานในช่วงการปิดซ่อมบำรุง เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมจากการใช้กระดาษมาใช้ระบบ โดยโปรแกรมนี้จะครอบคลุมระบบต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด และแยกการอบรมตามระบบให้เหมาะสมกับการใช้งานของคู่ค้า 
โครงการการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับคู่ค้า ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นโปรแกรมการสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสังคมระหว่างกลุ่มไทยออยล์และคู่ค้า และส่งเสริมให้นักศึกษาในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาความรู้และลงมือปฏิบัติจริงผ่านอุปกรณ์ที่ใช้งานจริงในโรงกลั่นและปิโตรเคมีจากหน่วยงานกลุ่มไทยออยล์กับคู่ค้าซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง 
PTT Group CG Day โครงการความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คู่ค้ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) โดยในปี 2566 ได้เชิญคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ จำนวน 2,100 ราย เข้าร่วมงานนี้ ผ่านระบบ Online
การสื่อสารผ่านกิจกรรมสานสัมพันธ์ เพื่อให้ได้คู่ค้าได้รับทราบ เข้าใจ และปฏิบัติตามเจตนารมณ์ด้านความโปร่งใสในงานจัดซื้อจัดจ้างกลุ่มไทยออยล์ อาทิ นโยบายการงดรับของขวัญและของกำนัล (No Gift Policy) จำนวน 2,445 ราย
การตรวจประเมินด้านความยั่งยืน (ESG) ภาคสนามประจำปี 2566 หรือ Supplier ESG On-Site Assessment 2566) ณ พื้นที่ปฏิบัติงานของคู่ค้า โดยสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม (สรอ.) เพื่อให้คู่ค้าได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มไทยออยล์ สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาด้านความยั่งยืน (ESG) ในห่วงโช่อุปทานต่อไป

ผลการดำเนินงานปี 2566

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์มีผลการดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่คู่ค้า ดังนี้

• การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานกลุ่มไทยออยล์

การจะทำให้นโยบายและกลยุทธ์การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งได้แก่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กร และคู่ค้าทางธุรกิจ เป็นต้น ตลอดจนความเข้าใจในหลักการและเหตุผลของการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ดังนั้น บุคลากรของหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กร จะได้รับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนผ่านการฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น การเข้าร่วมอบรมการพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนตามแนวทางมาตรฐาน ISO 20400 (Sustainable Procurement) ซึ่งครอบคลุมเรื่องการบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับนโยบาย กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ และกระบวนการด้านจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร (Integrating Sustainability into Procurement Policy, Strategies and E2E Process) การจัดระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความยั่งยืน (Organizing the Procurement Function towards Sustainability) และโปรแกรมด้านความยั่งยืนกับคู่ค้า (Supplier ESG Program) เป็นต้น เพื่อให้บุคลากรของหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรมีความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองในงานจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้งานจัดซื้อจัดจ้างตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน (ESG) ขององค์กร

ผลการดำเนินงานปี 2566

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์มีผลการดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่พนักงานกลุ่มไทยออยล์ดังนี้

การมีส่วนร่วมและความพึงพอใจของคู่ค้า

ในปี 2566 กลุ่มไทยออยล์ยังดำเนินการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ “E-procurement” อย่างต่อเนื่อง เช่น Contractor Management System (CMS) เป็นต้น เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส (Clear) เป็นธรรม (Fair) อย่างมืออาชีพ (Professional) โดยได้รับความร่วมมือจากคู่ค้ามากขึ้น และทำให้คู่ค้าได้รับประโยชน์ ลดต้นทุน ประหยัดเวลาในการเดินทาง ส่งผลต่อความพึงพอใจของคู่ค้า รวมไปถึงการนำระบบเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ มาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิเช่น นำระบบ SAP Ariba มาใช้ในการขึ้นทะเบียนคู่ค้า การยื่นซองประกวดราคา การรับใบสั่งซื้อสั่งจ้างแบบออนไลน์ และนำระบบ DocuSign มาใช้ในการลงนามสัญญาแบบ Digital Signature และได้มีจัดการฝึกอบรมคู่ค้าในการใช้งานระบบระบบ SAP Ariba อีกด้วย

กลุ่มไทยออยล์ยังผลักดันการยืนยันใบสั่งซื้อแบบออนไลน์ (Online PO) แก่คู่ค้าอย่างต่อเนื่องผ่านระบบ E-procurement ให้มากที่สุด เพื่อช่วยลดขั้นตอนระหว่างกัน เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้แก่คู่ค้า พร้อมสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบัน สามารถลดการใช้กระดาษไปได้ประมาณ 133,692 แผ่น/ปี หากคิดตั้งแต่เริ่มใช้ระบบจะลดได้ประมาณ 935,844 แผ่น จากการทำธุรกรรมผ่าน Online PO นำไปสู่การใช้ทรัพยากรและพลังงานที่ลดลง

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องร่วมกัน กลุ่มไทยออยล์ได้สำรวจความคิดเห็นคู่ค้าที่เคยยื่นซองประกวดราคาผ่านระบบ E-procurement (Online Bid Submission) พบว่าคู่ค้าส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อระบบอย่างมาก เนื่องจากช่วยลดต้นทุนแก่คู่ค้า เมื่อเทียบกับการยื่นชองแบบเดิมในแต่ละครั้ง ลดได้ประมาณครั้งละ 3,020 บาทและประหยัดเวลาในการเดินทางมายื่นซอง ประมาณ 5 ชั่วโมง 40 นาที

ทั้งนี้ กลุ่มไทยออยล์ได้พัฒนาระบบ Contractor Management System (CMS) เพื่อสนับสนุนกระบวนการดำเนินงานตามสัญญาของคู่ค้า (Post-Award) โดยคู่ค้าสามารถยื่นขอทำบัตรผู้รับเหมาเพื่อขอเข้าพื้นที่ทำงานในกลุ่มไทยออยล์ผ่านระบบ CMS ได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้ข้อมูลผู้รับเหมาได้รับการจัดเก็บอยู่บนระบบ สามารถตรวจสอบได้ และเป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังมีการประเมินผลงานคู่ค้าผ่านระบบ C-PMS (Contractor-Performance Management System) ซึ่งหลังจบงานตามสัญญา กลุ่มไทยออยล์จะนำ KPI ในด้านต่างๆ เช่น ESG SSHE และคุณภาพงานที่ได้ตกลงร่วมกับคู่ค้า มาประเมินผลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคู่ค้า เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการทำงานที่ดียิ่งขึ้นร่วมกันต่อไป

ผลการดำเนินงานปี 2566

เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มไทยออยล์ทราบถึงความต้องการของคู่ค้า กลุ่มไทยออยล์ได้สร้างการมีส่วนร่วม การสื่อสาร และการรับฟังข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ โดยการสำรวจมุมมองของคู่ค้าที่มีต่อกลุ่มไทยออยล์ ในมุมมองหลักการบริหารงานจัดซื้อจัดจ้าง การบริการ ความโปร่งใสและยุติธรรม ซึ่งกลุ่มไทยออยล์ได้นำข้อคิดเห็นที่ได้รับมาบูรณาการเข้ากับกระบวนการตัดสินใจและดำเนินการของบริษัทฯ ในปี 2566 ไทยออยล์ได้ดำเนินการสำรวจมุมมองและความคิดเห็นของคู่ค้าผ่านบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในงานวิจัย พบว่า ผลการสำรวจมุมมองของคู่ค้าต่อการดำเนินงานร่วมกับกลุ่มไทยออยล์ มีดังนี้

2. การบริหารจัดการคู่ค้าน้ำมันดิบและวัตถุดิบ

กลุ่มไทยออยล์ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำมันดิบและวัตถุดิบหลักในการกลั่น และดำเนินงานร่วมกับคู่ค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไทยออยล์จะได้รับการดูแลตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์อย่างมีความรับผิดชอบ และไม่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนจากการจัดซื้อน้ำมันดิบและวัตถุดิบ โดยมี SCOC เป็นแนวทางในการกำกับดูแลและสื่อสารให้แก่คู่ค้าน้ำมับดิบและวัตถุดิบเชิงกลยุทธ์ เพื่อตอบรับและปฏิบัติให้สอดคล้อง ทั้งนี้ ในปี 2566 คู่ค้าน้ำมันดิบและวัตถุดิบเชิงกลยุทธ์ ร้อยละ 100 ได้ตอบรับแนวทาง SCOC ของกลุ่มไทยออยล์ และมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SCOC ของกลุ่มไทยออยล์ โดยไม่พบประเด็นความเสี่ยงด้าน ESG ที่สร้างผลกระทบต่อธุรกิจ

ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน

• ข้อมูลผู้ค้าน้ำมันดิบและวัตถุดิบ

• ค่าใช้จ่ายปี 2566

• ด้านการกำกับดูแล

กลุ่มไทยออยล์คาดหวังให้คู่ค้าทุกรายตอบรับต่อแนวทาง SCOC ของกลุ่มไทยออยล์ เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้ามีความเข้าใจถึง SCOC ของกลุ่มไทยออยล์มีการสื่อสารผ่านเว็ปไซต์บริษัทฯ และงานสัมมนาคู่ค้ากลุ่มไทยออยล์ทุกปี

 

Update : กุมภาพันธ์ 2567