ผลิตภัณฑ์และบริการ

ธุรกิจปิโตรเคมี

สารอะโรเมติกส์ คือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ที่มีโครงสร้างโมเลกุล เป็นรูปวงแหวน (Aromatics ring) ซึ่งประกอบด้วยคาร์บอนอะตอนตั้งแต่ 6 อะตอมขึ้นไป เช่น เบนซีน โทลูอีน พาราไซลีน และมิกซ์ไซลีน

กำลังการผลิตผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์รวมทั้งสิ้น 838,000 ตันต่อปี ประกอบไปด้วย

พาราไซลีน 527,000 ตันต่อปี
เบนซีน 259,000 ตันต่อปี
มิกซ์ไซลีน 52,000 ตันต่อปี

 

พาราไซลีน (Paraxylene)

สารพาราไซลีนเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง เพื่อใช้สำหรับผลิตสาร PTA (Purified Terephthalic Acid) โดยในปัจจุบัน 65% ของสาร PTA จะถูกนำไปใช้ในการผลิตโพลิเอสเตอร์ (Polyester Fiber) หรือ เส้นใยสังเคราะห์เพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้า กระเป๋าผ้า เป็นต้น อีก 30% นำไปผลิตเป็นขวดนํ้ามันดื่มที่ เรียกทั่วไปว่าขวด PET (Polyethylene Terephthalate) เช่น ขวดนํ้าดื่มพลาสติก ขวดนํ้าอัดลมพลาสติก และที่เหลืออื่นๆ อีก 5% ใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น ฟิล์ม ภาชนะบรรจุอาหาร ถุงที่ใช้สำหรับเก็บความร้อน เป็นต้น

 

เบนซีน (Benzene)

สารเบนซีนใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของโรงปิโตรเคมีขั้นกลางเพื่อใช้ผลิต ผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยส่วนใหญ่ได้แก่ สารสไตรีนโมโนเมอร์ (55%) สารคิวมีน (20%) และ สารไซโคลเฮกเซน (10%) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีขั้นปลาย สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด

1. สารสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer หรือ SM) เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิต ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย เช่น

   สารโพลีสไตรีน (Polystyrene หรือ PS)
   สารอะคริโลไนทริล-บิวทาไดอีน-สไตรีน (Acrylonitrile-Butadiene-Styrene)
   สารสไตรีน บิวทาดีนรับเบอร์ (Styrene-Butadiene Rubber หรือ SBR)
   สารเอกซ์แพนเดดท์ โพลีสไตรีน (Expanded Polystyrene หรือ EPS)

2. สารคิวมีน (Cumene) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารฟีนอล (Phenol) และ สารอะซีโตน (Acetone) ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต สารโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate หรือ PC) ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น หลังคา รวมทั้ง เลนส์แว่นตา แผ่นซีดี และ หน้าจอของระบบสัมผัส (Touch Screen) เป็นต้น

3. สารไซโคลเฮกเซน (Cyclohexane) ใช้ผลิตเป็นสารคาโปรแลคตัม (Caprolactum) ซึ่งนำไปผลิตเป็นสารไนลอน 6 โดยจะได้ผลิตภัณฑ์ คือ เส้นใย- สังเคราะห์ (เพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้ากีฬา ผ้าทำเต้นท์) เม็ดพลาสติกขึ้นรูป เป็นต้น

 

โทลูอีน (Toluene)

 

สารโทลูอีนส่วนใหญ่จะถูกนำไปผ่านกระบวนการ เพื่อเพิ่มการผลิตสารพาราไซลีน และสารเบนซีน นอกจากนั้นยังสามารถนำไปผสมในนํ้ามันเบนซิน เพื่อเพิ่มค่าออกเทนได้อีกด้วย และยังใช้เป็นสารทำละลาย (Solvent) ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น สารเคลือบผิว ยาฆ่าแมลง อุตสาหกรรมสี กาว เป็นต้น

มิกซ์ไซลีน (Mixed Xylenes)

สารมิกซ์ไซลีนเป็นวัตถุดิบตั้งต้นหลักของโรงงานปิโตรเคมี ในการผลิตพาราไซลีน นอกจากนี้มิกซ์ไซลีน ยังใช้เป็นสารช่วยเพิ่มค่าออกเทนในนํ้ามันเบนซินและใช้เป็นสารทำละลาย (Solvent) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น สารเคลือบพื้นผิว ยาฆ่าแมลง สี กาว เป็นต้น